ธ.ก.ส.ติดตั้งอุปกรณ์ต่อเน็ตผ่านทีวีทั่วไทย
เชื่อมฐานข้อมูลทางการเกษตร กับกรมพัฒนาชุมชน
หนุนประสิทธิภาพสินเชื่อ
ธ.ก.ส. เดินหน้าเชื่อมฐานข้อมูลในโครงการเครือข่ายข้อมูลทางการเกษตร กับกรมพัฒนาชุมชน
หนุนความคล่องตัว และประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อตัวล่าสุด "สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน" ครอบคลุมกว่า 15,000 หมู่บ้าน นำร่องติดตั้งอุปกรณ์ต่อเน็ตผ่านทีวี ประเดิมภาคละ 5 สาขา หนุนเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลผ่านทีวี เผยอาจปล่อยกู้ 0% ให้เกษตรกรที่สนใจซื้ออุปกรณ์ไปติดตั้ง หากผลสรุปในโครงการนำร่องไปได้สวย
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์
ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เริ่มนำร่องโครงการเข้าถึงข้อมูลผ่านโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต
โดยติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านจอทีวี ในชื่อ "ที-บ็อกซ์" ในสาขาที่มีผู้ใช้บริการมาก
ภาคละ 5 สาขา เพื่อเป็นต้นแบบ และสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
รวมทั้ง ในช่วงแรกนี้ ธ.ก.ส. จะมีทีมงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกเวบไซต์ที่เหมาะสม และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อภาคการเกษตร
เช่น รายงานความเคลื่อนไหวราคาผลผลิต, พยากรณ์อากาศ, ข่าวสารความรู้ เช่น เวบไซต์ของหนังสือพิมพ์, ทีวี
และหมวดสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรกมี 10 เวบไซต์เด่นๆ โดยจะออกแบบให้โฮมเพจแรกที่ปรากฎขึ้นมา
จากการต่อเชื่อมโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต ปรากฎรายชื่อเวบไซต์ต่างๆ เหล่านั้น
เพื่อสนับสนุนความสะดวกในการเข้าไปใช้งาน หรือเรียกดูข้อมูล
"แนวคิดนี้น่าจะช่วยให้เกษตรกรลูกค้าเรา
คุ้นเคยกับการใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น เพราะเครื่องรับโทรทัศน์เอง ก็เป็นอุปกรณ์ที่ง่ายต่อการอ่านข้อมูลอยู่แล้ว
และโดยเฉลี่ยก็มีโทรทัศน์ใช้กันทุกบ้าน" นายธีรพงษ์
กล่าว สำหรับการเลือกใช้อุปกรณ์ "ที-บ็อกซ์" ในโครงการนี้ เพราะมีจุดเด่นที่สามารถรองรับภาษาไทย
รวมถึงทำงานร่วมกับเครื่องรับโทรทัศน์รุ่นเก่าๆ แม้กระทั่งรุ่นหน้าจอขาว-ดำได้ด้วย ทั้งนี้ ยังมีการออกแบบการแสดงผลให้ตัวอักษรใหญ่ขึ้น
เพื่อให้อ่านง่าย ขณะเดียวกัน จะมีการติดตามผลว่าข้อมูลด้านใด หรือเวบไซต์ใด ที่เกษตรกรนิยมเข้าไปใช้งาน
ตลอดจนการขอผลตอบกลับทางอินเทอร์เน็ต (feed back) จากผู้ใช้งานด้วย
เพื่อนำมาประเมินผลในขั้นต่อไป
ทางด้านการออกแบบระบบนั้น ธ.ก.ส. จะมีทีมที่ทำงานร่วมกับบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรในโครงการนำร่องนี้ เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้อุปกรณ์ดังกล่าว
มีการทำงานในรูปแบบโต้ตอบ (อินเตอร์แอคทีฟ) โดยการใช้งานนั้น ก็จะมีคีย์บอร์ดไร้สายสำหรับพิมพ์ รวมถึงสนับสนุนการส่งอี-เมล์ และเรียกดูไฟล์ภาพได้ อย่างไรก็ตาม คงไม่รองรับการดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากๆ
มาเก็บไว้
"ทีทีแอนด์ที
สนับสนุนเราในเรื่องของคู่สายที่จะต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องซื้ออุปกรณ์จากบริษัท"
นายธีรพงษ์ กล่าว
เดินหน้าเครือข่ายข้อมูลเกษตร
นายธีรพงษ์ กล่าวว่า โครงการนำร่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ
ธ.ก.ส. ที่กำลังเดินหน้าโครงการเครือข่ายข้อมูลทางการเกษตร
หรือเอไอเอ็น ในปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการรวบรวมฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
และจำเป็นสำหรับภาคการเกษตรมาใช้งานจริง ควบคู่กับขยายพันธมิตรสนับสนุนโครงการ ทั้งจากส่วนภาครัฐและเอกชน
โดยล่าสุด ธ.ก.ส. และกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเอ็มโอยู เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศการผลิตทางการเกษตร
และผลิตภัณฑ์ชุมชน (CVIS : Crop and Village Information System) ในการสร้างฐานข้อมูลรวมส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย ฐานข้อมูลการเกษตรและชุมชน,
ข้อมูลการผลิต การตลาด และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรพืช
เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร กลุ่มองค์กรเครือข่าย และประชากรในชุมชน
สำหรับความร่วมมือดังกล่าว จะสนับสนุนความรวดเร็วในการดำเนินงานเครือข่ายข้อมูลทางการเกษตร
และรองรับบริการล่าสุด "สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน" ของ ธ.ก.ส. ด้วย เนื่องจากจะมีการต่อเชื่อมฐานข้อมูลจากกว่า
10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
เข้ามายังฐานข้อมูลของ ธ.ก.ส. ที่รวบรวมไว้แล้ว ประมาณ 500 จุด ทั้งนี้
จากฐานข้อมูลในปัจจุบัน สามารถแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนหลักๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร
ซึ่งมีสัดส่วนถึงประมาณ 50% และตามมาด้วย กลุ่มทอผ้า-จักสาน, เซรามิกส์-ของประดับ
และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tour) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ฐานข้อมูลเหล่านี้
จะช่วยให้เราสามารถดูความเหมาะสมของการให้สินเชื่อได้ เพราะในบางกลุ่ม
เขาต้องการให้ช่วยเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาดมากกว่าเรื่องเงินทุน
ซึ่งเราก็อาจประสานงานช่วยในส่วนนั้นได้ เพื่อเสริมฐานให้เขาแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลตอบกลับมาในแง่ของความสามารถในการชำระเงินกู้"
นายธีรพงษ์ กล่าว
เล็งสรุป 3 แนวทางหนุนใช้งาน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบในการกระจายการเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางดังกล่าว
หลังจากผ่านช่วงโครงการทดสอบ และร่วมพัฒนาแล้ว โดยเบื้องต้นมองไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
1. ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่สาขาของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
ในลักษณะของการเป็นศูนย์ทดสอบ เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการฟรี
2. จำหน่ายอุปกรณ์ในราคาพิเศษ
ให้กับเกษตรกร ที่สมัครใจร่วมโครงการนำร่อง และส่ง feed back กลับมา และ 3. การจัดทำแคมเปญเงินผ่อนสำหรับลูกค้าทั่วไป
โดยผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ย 0% ผ่าน ธ.ก.ส. ระยะเวลา 12 เดือน
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม 2545
|