ยูเอ็นดีพี จัดไทยติดอันดับ 40 พัฒนาคน แซงหน้าจีน - อินเดีย
- นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาฉบับล่าสุดของสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นดีพี) ด้านบทบาทการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Report :HDR 2001) ภายใต้หัวข้อ บทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 72 ประเทศ
- สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว คำนึงจากปัจจัยทางด้าน ได้แก่
- 1.การสร้างเทคโนโลยี โดยพิจารณาถึงการจดทะเบียนสิทธิบัตรเทียบกับจำนวนประชากร และการได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์
- 2.การแพร่กระจายของนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นข้อเกี่ยวเนื่องจากการมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต และการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
- 3.การเปรียบเทียบระหว่างการใช้นวัตกรรมดั้งเดิม โดยใช้ปัจจัยชี้วัดจากจำนวนเครื่องโทรศัพท์ ทั้งที่เป็นโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ไร้สาย ร่วมกับการใช้งานกำลังไฟฟ้า
- 4.ปัจจัยด้านทักษะความชำนาญของมนุษย์ โดยใช้ตัวบ่งชี้จากค่ากลางระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา และอัตราการเรียนด้านวิทยาศาสตร์
- ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นการเสนอแนวคิด กรอบการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จ โดยการจัดอันดับครั้งนี้ ได้ดึงจุดเด่นของโครงการในประเทศไทยจาก สวทช.3 โครงการ ได้แก่ การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในโรงเรียน ผ่านโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อโรงเรียนไทย (สคูลเน็ต), โครงการคิดค้นยารักษาโรคมาลาเรียที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นในประเทศไทย และการนำวิธีคาดการณ์เทคโนโลยี
- ติดอันดับ 3 ประเทศที่พร้อมพัฒนา
- ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาฉบับดังกล่าวยังจัดอันดับประเทศต่างๆ ตามดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศ (ทีเอไอ) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับด้วย
- โดยส่วนของประเทศไทย ติดอันดับ 3 ในการวัดระดับประเทศที่มีความพร้อมในการพัฒนา (Dynamic adopters) ซึ่งมีผู้อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 26 ประเทศ ได้แก่ มีฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 7, จีน อันดับที่ 8, อินโดนีเซีย อันดับที่ 23 และอินเดีย ติดอันดับ 26
- ส่วนผลการจัดอันดับในระดับอื่นๆ ด้านหลักๆ นั้น ได้แก่ การวัดระดับความเป็นผู้นำ (ลีดเดอร์) ซึ่งมีผู้ติดอันดับทั้งหมด 18 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป, การวัดระดับของศักยภาพในการผู้นำในอนาคต จากทั้งหมด 19 ประเทศ ซึ่งมีฮ่องกง และมาเลเซีย ติดอันดับที่ 6 และ 12 ตามลำดับ เป็นต้น
- เชื่อดัชนีเอสแอนด์ทีไทยขยับขึ้น
- นายไพรัช กล่าวว่า ผลการจัดอันดับดังกล่าว ทำให้คาดว่าการจัดอันดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เอสแอนด์ที) ครั้งต่อไป ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสขยับไปอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 42 จากทั้งหมด 43 ประเทศ ขณะเดียวกัน คาดว่า ผลจัดอันดับครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น "ในปีนี้เป็นกรอบด้านการพัฒนามนุษย์ แต่ในปีหน้าน่าจะปรับเปลี่ยนหัวข้อการจัดอันดับ ซึ่งประเทศไทยก็น่าจะเตรียมความพร้อมในการพัฒนาด้านอื่นไว้ด้วย" นายไพรัช กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2544
|