ทศท เล็งขยับขึ้นให้บริการ อี-มาร์เก็ตเพลส เม.ย. 46
ทศท รุดขอไฟเขียวกระทรวงไอซีที เปิดทางก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์
(อี-มาร์เก็ตเพลส) ในเดือนเมษายน
2546 ทั้งติดใจเตรียมประมูลโทรศัพท์สาธารณะมูลค่า 1,200 ล้านบาท ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
น.พ. สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ทศท
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำแผนการตลาดเสนอมายังกระทรวงฯ
รวมทั้งแผนงานเตรียมพร้อมเป็นผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส เซอร์วิส โพรไวเดอร์) ภายในปี 2546 โดยแผนงานดังกล่าว
เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้หน่วยราชการใช้วิธีจัดซื้อ-ประมูลอิเล็กทรอนิกส์ก่อน และหากหน่วยงานใดมีความพร้อม
ก็สามารถยกระดับเป็นผู้ให้บริการเองได้ นอกจากนี้ ทศท
ยังเตรียมจัดประมูลโครงการโทรศัพท์สาธารณะ ด้วยวิธีการจัดประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction)
มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอนำเสนอคณะกรรมการบริหาร
(บอร์ด) ทศท ชุดใหม่
เพื่อขออนุมัติต่อไป
น.พ.สุรพงษ์
กล่าวว่า การให้บริการอี- มาร์เก็ตเพลส ของ ทศท จะไม่จำกัดอยู่กับภาครัฐ
หรือสามารถผูกขาดงานประมูลของภาครัฐได้ แต่ต้องเข้าแข่งขันเช่นเดียวกับผู้ให้บริการเอกชนรายอื่นๆ
เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่ใช้วิธีจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
"จะไม่มีมติ ครม. หรือกฎกระทรวงใด
กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเลือก ทศท เป็น อี-มาร์เก็ตเพลส
เพียงรายเดียว โดย ทศท จะเป็นเพียงหนึ่งในผู้ให้บริการเท่านั้น ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกสรรจากแต่ละหน่วยงานเอง
เพราะฉะนั้นจะไม่มีการผูกขาดตลาดในภาครัฐ อย่างที่เอกชนรายอื่นกังวล" น.พ. สุรพงษ์ กล่าว
พร้อมทำตลาด เม.ย. 46
ด้านนางวนิดา สิริสิงห์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทศท อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเป็นผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์
โดยศึกษาจากการรับบริการจากผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งตามแผนงานพร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการได้
ประมาณเดือนเมษายน 2546 โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 200 ล้านบาท ในการติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์
รวมทั้งค่าที่ปรึกษาในการเป็นผู้ให้บริการ และสนับสนุนการทำอี-บิสซิเนส ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีแรก ทศท
ยังไม่กำหนดเป้าหมายรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการ แต่มุ่งหวังเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจากการเป็นผู้ให้บริการเอง
เนื่องจากผู้ที่เป็นตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับส่วนแบ่งค่าบริการจากผู้ชนะประมูลระหว่าง
1.5-1.8% ของมูลค่าโครงการประมูล
"หากเราเป็นอี-มาร์เก็ตเพลส เอง การจัดซื้ออุปกรณ์ที่ต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์ พัสดุภัณฑ์
จะไม่ต้องเสียทั้งค่าบริการ 5,000 บาท และส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ที่ต้องให้อี-มาร์เก็ตเพลส รายอื่น ทำให้ได้สินค้าที่ถูกลงไปกว่าราคาจัดประมูล ซึ่งเป็นเงินที่ค่อนข้างมากสำหรับผู้เข้าประมูล
ที่ต้องจ่ายให้กับอี-มาร์เก็ตเพลส" นางวนิดา กล่าว
ทางด้านจุดแข็งของ ทศท
ที่จะก้าวเป็นผู้ให้บริการตลาดกลางฯ ก็คือ ความพร้อมของระบบโครงข่าย
และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งชื่อเสียงขององค์กร อย่างไรก็ตาม
ยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง ในด้านการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องเรียนรู้
และจ้างที่ปรึกษาการให้บริการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพความพร้อมของ ทศท
ให้แข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้
ต่อรองราคาลงอีก 8 แสนบาท
นางวนิดา กล่าวว่า สำหรับการจัดประมูลเช่า (E-Auction) เครื่องถ่ายเอกสารจำนวน
353 เครื่อง ของ ทศท วงเงิน 77 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดสามารถต่อรองราคาได้อีก
โดยในการจัดซื้อเครื่องถ่ายเอกสารรวมเครื่องเรียงสำเนา (Sorter) ซึ่งสรุปราคาที่ 26.2 ล้านบาท นั้น
คณะกรรมการจัดประมูลของ ทศท ได้ต่อรองบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ วิศวกรรม
ให้ลดไปได้อีก 800,000 บาท และต่อรองบริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ลงไปอีกประมาณ 40,000 บาท ทำให้สรุปผลราคาการประมูลของ ทศท ลดไปประมาณ 29
ล้านบาท โดย ทศท ต้องจ่ายเงินทั้งหมดประมาณ 48 ล้านบาท
ผนึกสหรัฐ ทำหลักสูตรวิจัย
น.พ. สุรพงษ์
กล่าวว่า ล่าสุด ทศท ยังได้รายงานให้ทราบเรื่องการจัดตั้ง ทีโอที อะคาเดมี (
TOT Academy) เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรทางด้านไอซีที รวมทั้งเป็นศูนย์วินัยพัฒนาด้านไอซีที
และเป็นที่ทำการของคณะทำงานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับของอี-อาเซียน
โดย ทศท เตรียมร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของสหรัฐอเมริกา เพื่อฝึกอบรมหลักสูตรวิจัย
และพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับไอซีที ทั้งด้านโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ เนื่องจาก
ทศท มีบุคลากรที่มีความศักยภาพในงานด้านโทรคมนาคมเป็นอย่างดี สำหรับศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่
ทศท งามวงศ์วาน ส่วนอัตราค่าเรียน และหลักสูตร ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด
ทั้งนี้ การวิจัยพัฒนาบุคลากรตามแผนงานนี้ จะไม่เป็นการแข่งขันกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) เนื่องจากหน่วยงานวิจัยในประเทศไทย
มีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด หรือการพัฒนาของประเทศ "บทบาทของเนคเทค เดิมมีหน้าที่วิจัยทั้งระดับพื้นฐาน และประยุกต์ ซึ่งแนวทางการริจัยของเนคเทคจะต้องวิจัยงานที่ภาคเอกชนไม่ได้ดำเนินการ
เช่น เมื่อดาวน์โหลดเวบไซต์ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ควรมีการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทยได้
ซึ่งหากวิจัยสำเร็จ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน และเยาวชนได้ในวงกว้างมากขึ้น"
น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2545
|