ทีดีอาร์ไอชี้ 3 ฝ่ายกำหนดอนาคตโทรคมนาคมไทย
เสนอ 10
แนวทางปฏิรูปโทรคมนาคมเพื่อความเป็นธรรม และสร้างประโยชน์ผู้บริโภค
ทีดีอาร์ไอ ชี้อนาคตโทรคมนาคมไทยต้องมีผู้รับผิดชอบร่วม 3 ฝ่าย ทั้ง กทช.- รัฐบาล - กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) เสนอ 10 แนวทางปฏิรูปเพื่อความเป็นธรรม และสร้างประโยชน์แก่ประชาชน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
กล่าวในการสัมมนา "กทช. vs.กระทรวงไอซีที ใครกำหนดอนาคตโทรคมนาคมไทย"
ซึ่งจัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศว่า ภาครัฐและกระทรวงไอซีที
ควรเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปธุรกิจโทรคมนาคมของไทยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เรื่องการเปลี่ยนตลาดโทรคมนาคมจากผูกขาด
หรือกึ่งผูกขาดไปสู่ตลาดแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียทางสังคมจากการผูกขาด
และโอนถ่ายประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปยังระบบเศรษฐกิจทั้งหมด และปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดยเสนอ 10
แนวทางให้คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ที่จะเกิดในอนาคต, กระทรวงไอซีที และรัฐบาล
ต้องร่วมมือกันปฏิรูปตลาดโทรคมนาคมไว้ ดังนี้ 1. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
2. การแปรสัญญาสัมปทาน 3. สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม
4. การเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคม 5.แก้กฎหมายประกอบกิจการ
6. กำกับดูแลการแข่งขัน 7. ป้องกันการผูกขาด 8.
คุ้มครองผู้บริโภค 9. สรรหา กทช. และ 10. ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐ
"กระทรวงไอซีทีร่วมกับกระทรวงการคลังควรหาความเป็นธรรมให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ
เพื่อให้มีบริการที่ดี และต้องมีกลไกป้องกันการผูกขาด ซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องทำประโยชน์ให้ประชาชน
และต้องลดการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ จึงจะไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจมีอำนาจเหนือตลาด
เนื่องจากปัจจุบันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มีผลต่อการลดความสูญเสียในสังคม
หรือมีประโยชน์ต่อประชาชนเท่าใดนัก เนื่องจากที่รัฐทำอยู่เป็นการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัท
จำกัด แต่รัฐยังคงถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งเป็นเพียงการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น"
นายสมเกียรติ กล่าว
ต้องพิจารณาแปรสัญญาโทรพื้นฐาน
พร้อมระบุว่า กระทรวงไอซีที
และผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาการแปรสัญญาสัมปทาน เฉพาะในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้น
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงสุดประมาณ 41.4% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ในหัวข้อการสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม กระทรวงไอซีทีควรเข้าไปดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค
และสอดคล้องกับต้นทุนได้ ตัวอย่างเช่น ทศท ได้สิทธิจากรัฐบาลตามมติรัฐบาลชุดเก่า ให้ติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานแก่ภาครัฐทั้งหมด
ถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่เรื่องนี้รัฐเข้ามาแก้ไขได้ โดยมติ ครม.ใหม่ ทั้งชี้ว่า การแก้ไขกฎหมายกิจการโทรคมนาคม
เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง เพราะรัฐบาลเสนอเข้า ครม.ได้
เพื่อให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่วนเรื่องการเปิดเสรีโทรคมนาคม
เป็นหน้าที่ของ กทช. คือ เรื่องการจัดทำสัญญาร่วมการงานใหม่
ขณะเดียวกันไอซีที สามารถเข้ามาดูแลได้บางส่วน เช่น ตลาดอินเทอร์เน็ต
รัฐควรทำให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมไม่ให้สิทธิเฉพาะ กสท. หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
ควรเข้ามาเป็นผู้เจรจาให้ได้ข้อสรุปเรื่องตลาดโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ ทศท เก็บ
6 บาท จาก กสท. ซึ่งภาระดังกล่าวถูกผลักไปที่ประชาชน
จึงต้องจ่ายค่าบริการในอัตราสูง
ส่วนเรื่องการกำกับดูแลการแข่งขัน
เป็นหน้าที่ของ กทช.
และกระทรวงไอซีทีร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยด้านไอซีทีคือ ทำให้รัฐวิสาหกิจเก็บอัตราค่าบริการอย่างเป็นธรรม
เช่น การปรับลดอัตราเชื่อมวงจรอินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับตลาด ขณะการป้องกันการผูกขาดเป็นหน้าที่ของ
กทช. กับกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ประกาศใช้
พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
เพราะยังไม่ประกาศคำว่า "ผู้มีอำนาจเหนือตลาด"
จึงทำให้เกิดการควบรวมกิจการของธุรกิจโทรคมนาคม และมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าครึ่งของตลาด
โดยการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน้าที่ของ กทช. ส่วนไอซีที
มีหน้าที่สั่งการให้รัฐวิสาหกิจให้บริการผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันการสรรหา กทช. ยังอยู่ขั้นการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งทั้งหมดนี้หากรัฐบาล
กระทรวงไอซีที และ กทช. ร่วมมือกันได้ จะทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง
"อนาคตของโทรคมนาคมไทยหากเป็นการกำกับดูแลอย่างเดียวจะอยู่ในความดูแลของ
กทช.เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การกำกับดูแลไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการกำหนดอนาคตโทรคมนาคมไทย
เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือหลายประการ และยังเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมอีกด้วย"
นายสมเกียรติ กล่าว โดยเห็นว่า กทช. เป็นหน่วยงานอิสระประเภทใหม่
ไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคม (accountable) ดังนั้นถ้ามีนโยบายไม่ถูกต้องกับความรู้สึกของประชาชนเกิดขึ้น
เช่น การไม่จัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ อัตราค่าโทรศัพท์แพง
ก็ไม่มีหน่วยงานใด "ไล่เบี้ย" กับ กทช. ได้ เพราะกลไกการเกิด กทช. หลุดจากการตรวจสอบจากประชาชน จึงต้องมีระบบการเมืองเข้ามาดูแล
ล้อมกรอบ - น.พ.สุรพงษ์ แจงแปรสัญญา เชิญเอกชนหารือ 27 พ.ย. นี้
น.พ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า
การแปรสัญญาร่วมการงานจะเชิญบริษัทเอกชนเข้ามาหารือในวันที่ 27 พฤศจิกายน นี้ และด้านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเข้าชี้แจงรายละเอียดวันที่
13 ธันวาคมต่อไป ทั้งขณะนี้ได้สั่งให้บริษัท ทศท
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ไปเจรจาปรับลดค่าเชื่อมโยงนาทีละ
6 บาท โดยเบื้องต้นให้ดำเนินการในส่วนของรัฐก่อน ส่วนผู้ให้บริการเอกชนคงต้องหารือในรายละเอียดกันก่อนว่าขัดกับสัญญาที่มีอยู่หรือไม่
สำหรับประเด็นที่มีผู้พูดถึงการแปรสัญญาว่า ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่มีไม่เพียงพอต่อการนำไปจัดสรรใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่นั้น
ยืนยันว่าในส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ นั้นยังสามารถจัดสรรให้กับผู้ประกอบการอีก
2 รายได้ ส่วนเรื่องอี-กอฟเวิร์นเมนท์ ซึ่งประเทศไทยอาจดำเนินการล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ทางไอซีทีจะศึกษาแนวทางของประเทศที่ใช้อี-กอฟเวิร์นเมนท์แล้วมาเป็นแนวทางพัฒนาของประเทศไทย
เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน
2545
|