วิจัย'เอสเอ็มอี'พันธุ์ไทย 12 กลุ่มยังพิการ ขาดเงินทุน-ยอดขายต่ำ-แข่งขันตปท.ไม่ได้
เปิดผลวิจัย ชี้เอสเอ็มอีไทย 12
กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ยังพิการ ขาดเงินทุน-ยอดขายต่ำ-ไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ 90% ถอดใจหันมายึดแนวธุรกิจพอเพียง
ผศ.ดร.พิภพ อุดร นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เปิดเผยถึงโครงการสำรวจสภาพปัจจุบันและปัญหาของทายาทเอสเอ็มอีในการสืบสานกิจการต่อ
พร้อมช่องทางการปรับตัวของกิจการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ว่า โครงการนี้เป็นการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
โดยสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการใน 12 กลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ
จำนวน 1,080 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 2545
โดยภาพรวมเอสเอ็มอีของไทยประสบปัญหาการแข่งขันจากต่างประเทศ
ยอดขายตก ขาดแหล่งเงินทุน และประสบปัญหาหนี้สูญ กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศมากที่สุด
ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, ค้าปลีกค้าส่ง, หัตถกรรมและเครื่องหนัง และธุรกิจบริการ ทั้งนี้ กิจการที่มีปัญหา
ยอดขายลดลง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, เซรามิกและเครื่องปั้น
ดินเผา, ค้าปลีกค้าส่ง, วัสดุก่อสร้าง
และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนกิจการที่มีปัญหาจากการขาดแหล่งเงินทุนมากที่สุดคือ เซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา,
วัสดุก่อสร้าง และหัตถกรรมและเครื่องหนัง กิจการที่มีปัญหาจากหนี้สูญมากที่สุดคือ
วัสดุก่อสร้าง, หัตถกรรมและเครื่องหนัง และเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา
สำหรับกลยุทธ์ที่เอสเอ็มอีใช้ในการปรับตัวหลังภาวะวิกฤต ได้แก่ การปรับตัวทางการตลาดโดยปรับคุณภาพสินค้า
การให้บริการเสริม การปรับราคา และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า, การปรับตัวทางเทคโนโลยี โดยใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย, การปรับตัวทางกระบวนการผลิต โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตภายใน
และการสร้างพันธมิตรในการผลิต ผศ.วิทยา ด่านธำรงกูล
นักวิจัยของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า
ผู้ประกอบการไทยปรับตัวช้า เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และผลการวิจัยพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองปัญหานั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
โดยไม่กลับมามองปัจจัยภายใน เช่น วิธีการผลิตของตนเอง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างเห็นว่า
หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ยอดขายหายไปร้อยละ 50 เนื่องจากการหดตัวของตลาดภายใน
โดยกลุ่มค้าปลีกค้าส่งได้รับผลกระทบจากคู่แข่งขันรายใหญ่ นอกจากนี้ เอสเอ็มอีกังวลคู่แข่งจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน ส่วนปัญหาทางการเงินเกิดมากกับธุรกิจก่อสร้างจากหนี้เสียของลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ที่เลิกกิจการ
การที่สถาบันการเงินลดการปล่อยสินเชื่อ และเรียกหนี้คืน ทั้งนี้ เอสเอ็มอีไม่สนใจที่จะใช้บริการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
(บอย.) เนื่องจากทำงานล่าช้าและไม่เข้าใจธุรกิจเหมือนธนาคาร
'ประเด็นที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจผ่านไปแล้วจึงมีกำลังใจเพิ่มขึ้น
และเห็นว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่การจะขยายตัวและทำธุรกิจต่อไปต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
โดยผู้ประกอบการร้อยละ 80-90 ไม่คิดจะขยายกิจการต่อ
และหันมาใช้เศรษฐกิจพอเพียงแทน' ผศ.วิทยากล่าว
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2545
|