ทักษิณยันเปิดเสรีโทรคม เป็นธรรมและเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจต่อเทเลนอร์
ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ยันเปิดเสรีโทรคมนาคม
อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
วานนี้ (23 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องรับรองนายกฯ
ทำเนียบฯ นายจอน เฟรดริค บัคซาส ประธานคณะกรรมการ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท เทเลนอร์
เอเอสเอ (Telenor ASA) เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความยินดีที่บริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคมของภูมิภาค
นอร์ดิก เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ซึ่งจะช่วยพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทย
ที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคมอย่างมาก โดยกำหนดเป็นแผนแม่บท ประกอบด้วย
การเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน การแปรสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
เป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ นายจอน เฟรดริค บัคซาส
ได้กล่าวถึงการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม
พ.ศ. 2544 ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณระบุว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนหลักการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน
โดยจะเร่งรัฐกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และการพัฒนาด้านโทรคมนาคม
ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ
ทั้งเรื่องความสะดวกและคุณภาพด้วย
ประธานบริหารสูงสุด เทเลนอร์ ยังสอบถามถึงบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่ากระทรวงไอซีทีจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ภาครัฐและเอกชนใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สำหรับรัฐบาลมีแผนการใช้อีกอฟเวิร์นเม้นท์ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับเริ่มดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้างผ่านอิเล็กทรอนิกส์
และจะก้าวไปสู่การมี E-Citizen ต่อไป
ด้านนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการ
บริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม
หนึ่งในทีมผู้บริหารที่เข้าพบนายกฯ พร้อมนายจอน กล่าวว่า ประธานบริหารสูงสุดของเทเลนอร์เข้าพบนายกฯ
ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องการมากระชับความสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เพราะในปี 2547 จะครบวาระความสัมพันธ์ของนอร์เวย์กับไทย
100 ปี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้ติดต่อทางการทูตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
5 อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิด รวมถึงสอบถามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องภาษีสรรพสามิตที่จะนำมาใช้กับกิจการโทรคมนาคม
ซึ่งนายกฯ ชี้แจงว่า เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปิดเสรี แต่ต้องรอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กทช.) ขึ้นก่อน ซึ่งรัฐบาลจะมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ
เป็นกำลังสำคัญ เพราะเห็นว่า หากประชาชนมีความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็จะมีกำลังซื้อในสินค้าและบริการอย่างอื่น
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 มกราคม 2546
|