"นารายณ์ มูรติ" แนะนักพัฒนาไทย สร้างผลิตภัณฑ์เด่นเปิดตัวสู่ตลาดโลก
หนุนกรอบแนวคิดใหม่เกาะติดแนวโน้มหลอมรวมเทคโนโลยี
ที่ปรึกษาไอที นายกฯ แนะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
เร่งสร้างผลิตภัณฑ์แรกที่สร้างความจดจำแก่ลูกค้า เน้นอิงกระแสระบบสื่อสารไร้สาย
นาโนเทคโนโลยี และไบโอเทค พลิกสู่โอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
ประกาศความโดดเด่นของศักยภาพในการเจาะตลาดโลก
นายนารายณ์ มูรติ ประธานกรรมการ
และประธานคณะที่ปรึกษา บริษัท อินโฟซิส เทคโนโลยีส์
และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านไอทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยออกสู่ตลาดโลก
คือ ประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์แรกของตัวเองที่สามารถสร้างความจดจำให้กับลูกค้าได้
โดยสามารถเริ่มจากระดับในประเทศก่อน แล้วค่อยขยายสู่การสร้างความรู้จักในตลาดโลกต่อไปก็ได้
"หากมองในแง่ของเทคโนโลยี ประเทศไทย
มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับอยู่แล้ว เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย
ซึ่งหากต้องการใช้เทคโนโลยีอะไร ก็สามารถนำเข้าจากผู้ผลิตข้ามชาติได้
ทำให้ไม่มีช่องว่างในส่วนนี้" เขาแสดงความเชื่อมั่น
ทางด้านความเป็นไปได้ของผู้พัฒนาไทย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นของตัวเองนั้น
เขามองว่าในยุคที่คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต เข้ามามีบทบาทในแทบทุกส่วนของโลก รวมถึงในชีวิตประจำวัน
ผ่านการสื่อสารด้วยเครือข่ายความเร็วสูง, อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย
ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านไอทีนั้น อาจเป็นในแง่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์สนับสนุนการทำงานผ่านอุปกรณ์ไร้สาย
เพื่อเข้ามาแทนที่การทำงานผ่านเครื่องพีซี หรือโน้ตบุ๊ค นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี
และไบโอเทค
เครือข่ายร่วม ปูทางเกิดธุรกิจใหม่
ขณะที่ นายยืน ภู่วรรณ รองอธิการบดี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้การหลอมรวมเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบอยู่กับที่ (ฟิกซ์ไลน์)
เข้ากับเครือข่ายไร้สาย (ไวร์เลส) เกิดการเข้าถึง และการบริการร่วมกัน สร้างธุรกิจใหม่
ที่เป็นบริการบูรณาการ (Integration Service) ซึ่งเรียกว่า อี-เซอร์วิส โดยยกตัวอย่างถึงบริการอี-เซอร์วิสในธุรกิจท่องเที่ยว
ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการด้านท่องเที่ยวจากเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่
ที่จะมีธุรกิจอี-โบรกเกอร์ เป็นตัวแทนนำเที่ยว เป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลเวบไซต์ที่เกี่ยวข้อง
และนำเสนอเป็นวัน สต็อป ช็อป
สร้างกรอบแนวคิดใหม่
"เราต้องสร้างกรอบแนวคิดใหม่
ที่ไม่เป็นผู้ตาม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงใจลูกค้า และใช้งานง่าย
โดยเกาะกระแสของแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพื่อปรับแนวทางการตลาดตามสถานการณ์ได้
เนื่องจากวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ไอซีทีจะสั้น และเร็วมาก" นายยืน
กล่าว อย่างไรก็ตาม ระบบงานที่มีแนวโน้มทางการตลาด ต้องเป็นระบบที่เอื้อให้เข้าถึง
และใช้บริการผ่านเครือข่ายเดียวจากอุปกรณ์ที่หลากหลายกัน (ยูบิควิตัส
คอมพิวติ้ง) โดยอาจมีการสร้างซอฟต์แวร์ตัวกลางอัจฉริยะ (อินทิลิเจนท์ เอเย่นต์) เข้าไปติดตั้งในอุปกรณ์ต่างๆ
ทำให้อุปกรณ์มีความสามารถในการทำงานดีขึ้น สามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์โดยผ่านเครือข่ายได้
เช่น การทำงานผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2546
|