"เอ็มไอที" เผยโครงการพัฒนา มือถือระบบสัมผัสแบบใหม่

ลอนดอน - นักวิจัยห้องปฏิบัติการมีเดียของเอ็มไอที พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบสัมผัสรูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีสัมผัส ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังคู่สนทนาพร้อมคำพูด

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นักวิจัยห้องปฏิบัติการมีเดียของเอ็มไอที ประสบความสำเร็จในการพัฒนา โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบสัมผัสแบบใหม่ ซึ่งสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนพร้อมคำพูดไปยังคู่สนทนาได้ กระนั้น ต้นแบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทำจากยางลาเท็กซ์ ของเอ็มไอทีนี้ มีเครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก 5 ตัว ซึ่งเมื่อกดนิ้วลงอุปกรณ์ดังกล่าว จะสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังผิวหนังได้ราว 250 ครั้งต่อวินาที "ใต้เครื่องขยายเสียงเหล่านี้ มีตัวตรวจจับสัญญาณ (Sensor) ดังนั้น คุณสามารถส่งและรับรู้การสั่นสะเทือนได้ดี" นิตยสารนิว ไซอันติสท์ รายงาน ดอกเตอร์ ไซล์ โอ' โมดห์เรน หัวหน้ากลุ่มพัลเพเบิล แมชีนส์ รีเสิร์ซ ที่ห้องปฏิบัติการมีเดียของเอ็มไอที ในเมืองดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ กล่าวว่า เมื่อผู้ใช้บีบโทรศัพท์ด้วยนิ้ว สัญญาณการสั่นสะเทือน จะถูกถ่ายโอนไปยังนิ้วของคู่สนทนา โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงของการบีบ ด้านแองเจล่า ฉาง นักวิจัยของห้องปฏิบัติการดังกล่าว เปิดเผยว่า กลุ่มนักศึกษา ซึ่งทดสอบใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบสั่นนี้ ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อการสนทนาและการพัฒนารหัสมอส

 

นอกจากนี้ ฉาง ยังเชื่อว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใหม่นี้ มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกันได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะมีใครรู้ในสิ่งที่กำลังพูด และสามารถจินตนาการได้ว่า กำลังจับมือกันแสดงความยินดีกับใครบางคน เมื่อประสบความสำเร็จในการเจรจาทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ ตัวแทนของห้องปฏิบัติการดังกล่าว ยังเสริมว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้คือ การเพิ่มประสบการณ์ด้านคอมพิวเตอร์ ให้ครอบคลุมการสัมผัส นอกเหนือจากภาพและเสียง

 

ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของเอ็มไอที ในบอสตัน ได้พัฒนาอุปกรณ์อย่างง่ายบนลูกกลิ้งไม้ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สองคนสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสาย รวมทั้งยังสามารถรับรู้ได้ว่า อีกฝ่ายกำลังเคลื่อนไหววัตถุ ขณะที่ คณะทำงานของห้องปฏิบัติการดังกล่าว ในเมืองดับลิน อยู่ระหว่างสร้างอุปกรณ์ดังกล่าว และวางแผนจะพัฒนาให้เทคโนโลยีการสัมผัสดังกล่าว ออกสู่สาธารณชนต่อไป "พวกเราต้องการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการสื่อสารระหว่างคนสองคน โดยในเบื้องต้นจะเน้นไปที่บริการข้อความทันใจ" ดอกเตอร์โมดห์เรน กล่าว พร้อมเสริมว่า การวิจัยดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่คณะทำงาน กระตือรือร้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไป

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.