วิธีสอดแนมใหม่แปลข้อมูลจากแสงแอลอีดี
ระบุทำงานคล้ายการส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสงโดยไม่ต้องใช้สายเคเบิล
ซานฟรานซิสโก -
นักวิทยาศาสตร์ เผยผลสำเร็จค้นพบวิธีสอดแนม ข้อมูลระยะไกลแบบใหม่
ด้วยการใช้กล้องโทรทัศน์ จับสัญญาณจากแสงแอลอีดี หรือจอภาพ พร้อมเตือนอาจนำไปใช้
ในการดักฟังข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และกองทัพได้
นายโจ ลาฟรี่
ผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน สเปซ ซิสเตม ในเมืองเดนเวอร์
กล่าวว่า ขณะนี้ สามารถใช้กล้องโทรทัศน์ตรวจจับสัญญาณแสงจากหลอดไดโอดเปล่งแสง
หรือแอลอีดี
(LED-light-emitting diode) ซึ่งมักปรากฏเป็นจุดแสงสีแดงเพื่อแสดงการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ
ตั้งแต่โมเด็ม, แป้นพิมพ์และอุปกรณ์เชื่อมโยงเครือข่าย
หรือเราเตอร์ (routers) แล้วนำมาผ่านกระบวนการตรวจหาข้อมูลที่เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์
กระนั้น นายลาฟรี่ ชี้แจงในเอกสารชื่อ "การรั่วไหลของข้อมูลผ่านทางการเปล่งแสงของใยแสง"
ว่า ด้วยเครื่องมือเพียงเล็กน้อย สามารถสอดแนมได้จากระยะไกล
อีกทั้งยังไม่สามารถสืบย้อนรอยได้ หลอดไฟแอลอีดี ทำหน้าที่เสมือน อุปกรณ์ส่งข้อมูลใยแสงขนาดเล็กที่ไม่ต้องใช้เนื้อที่ใดๆ
ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการทำงานของการส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงแบบไม่ต้องใช้สายเคเบิล
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ที่เปล่งแสงไฟแอลอีดีทุกชนิดจะถูกตรวจจับได้ เนื่องจากวิธีการเช่นนี้จะสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ที่อาศัยเครือข่ายระยะไกลที่มีความเร็วต่ำ
เช่น เครือข่ายเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ตามธนาคาร จึงอาจใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ที่ใช้สายโมเด็มและเครือข่ายที่มีความเร็วสูง
ด้านนายปีเตอร์ ทิพเพ็ต
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ทรูเซเคียวร์ คอร์ป. กล่าวว่า
นวัตกรรมใหม่นี้ เป็นเรื่องจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป นอกเสียจากกำลังถูกไล่ล่าจากเคจีบี
นายลาฟรี่ กล่าวว่า เขาสามารถจับสัญญาณแสงได้ชัดเจน จากระยะ 20 เมตร ด้วยอุปกรณ์ตรวจจับใยแสงนี้
หากใช้กล้องโทรทัศน์และอุปกรณ์ตรวจจับแสงคุณภาพสูง อาจสามารถดักฟังข้อมูลจากแสงไฟแอลอีดีได้จากระยะไกลกว่า
1.6 กิโลเมตร หรือหากใช้กับแสงสะท้อนจากจอภาพ จะสามารถใช้ได้จากระยะ
2.7 เมตร
"ไม่มีใครเคยมองมาก่อน"
ทั้งนี้ นายลาฟรี่ เริ่มค้นคว้าด้านแอลอีดี
เมื่อปี พ.ศ. 2537 ขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยซีแอตเติล
เนื่องจาก "ไม่มีใครเคยมองแสงไฟเหล่านี้มาก่อน"
"คืนหนึ่ง ผมทำงานดึกมาก และกำลังรอให้การโอนย้ายไฟล์เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ผมบังเอิญจ้องไปที่แสงไฟเหล่านี้บนโมเด็ม แล้วก็เริ่มคิดว่ามีอะไรในแสงไฟเหล่านี้บ้างหรือไม่"
นายลาฟรี่ กล่าว การป้องกันไม่ให้สัญญาณจากแสงไฟแอลอีดีเหล่านี้ถูกตรวจจับทำได้ง่ายมาก
ด้วยการวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้ห่างจากหน้าต่าง ปิดกระดาษกาวสีดำไว้บนหลอดไฟแอลอีดี หรือปิดเครื่องเมื่อเลิกใช้
ผู้ผลิตเครื่องมือเหล่านี้ก็สามารถปรับปรุงอุปกรณ์ของตนได้ งานวิจัยของลาฟรี่ จะตีพิมพ์ปลายปีนี้ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ของสมาคมอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์
ชื่อ "ACM Transaction on Information and System Security" โดยมีผู้เขียนร่วมคือ ศาสตราจารย์เดวิด อัมเฟรส ซึ่งขณะนี้เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่มหาวิทยาลัยออเบิร์น
มลรัฐอลาบามา ขณะที่ นายมาร์คัส คูห์น
นักวิจัยผู้ค้นพบจุดอ่อนของการแสดงภาพบนจอแบบ ซีอาร์ที (cathode-ray tube) กล่าวว่า การค้นพบนี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อกองทัพ หรือเครือข่ายของรัฐบาลที่มีข้อมูลลับเฉพาะ
เช่น สถานทูต ทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหม หรือฝ่ายทหาร
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2545
|