"เจวีซี" พัฒนาเทคนิคป้องกันทำซ้ำซีดี แก้ปัญหาละเมิดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์
เจวีซี จับมือฮัดสัน ซอฟต์
พัฒนาวิธีป้องกันการทำซ้ำแผ่นซีดี-รอม ด้วยการตั้งรหัสข้อมูลให้สามารถเปิดอ่านได้ด้วยกุญแจ
พร้อมระบุสามารถปรับใช้กับดีวีดี และสื่อประเภทต่างๆ ได้ แต่ยกเว้นแผ่นซีดีเสียง
สำนักข่าวซีเน็ต
รายงานโดยอ้างคำแถลงการณ์ของบริษัทเจวีซี และบริษัทฮัดสัน ซอฟต์ ว่า
ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านการทำซ้ำ หรือ "รูท" (Root) ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้มีการอัดสำเนาแผ่นดิสก์ซีดี-รอมได้
ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
ตัวแทนบริษัทเจวีซี กล่าวว่า เทคโนโลยีรูท
ซึ่งป้องกันการทำซ้ำ"จากระดับพื้นฐาน" อาศัยการตั้งรหัส
ซึ่งถือเป็นวิธีพื้นฐานในการปกป้องข้อมูล โดยเทคโนโลยีดังกล่าว จะเข้ารหัสเนื้อหาของแผ่นดิสก์ทั้งหมด
ดังนั้น จึงไม่สามารถอ่านได้ถ้าไม่ใช้กุญแจ ที่ซ่อนอยู่ในแผ่นดิสก์ดังกล่าว ในส่วนของการซ่อนกุญแจนั้น
จะใช้วิธี ซึ่งไดร์ฟซีดี-รอมทุกประเภทสามารถอ่านได้ แต่ไม่สามารถใช้ไดร์ฟซีดีอาร์/อาร์ดับบลิวเขียนทับได้ ดังนั้น แผ่นดิสก์ที่ได้จากการทำซ้ำ
จึงไม่สามารถเปิดอ่านได้ นอกจากนี้ ตัวแทนบริษัท ยังกล่าวอีกว่า กุญแจดังกล่าว จะมีลักษณะแตกต่างกันไปในดิสก์แต่ละแผ่น
และถูกซ่อนไว้ในที่ ซึ่งแตกต่างกันด้วย
ด้านนักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า "รูท"
เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาออกมาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแพร่หลายของอุปกรณ์บันทึกซีดี
ซึ่งได้กลายเป็นส่วนประกอบมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้อัตราเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สูงขึ้น
"เป็นที่คาดกันว่า ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาต่างๆ
หันมาให้ความสนใจกับการป้องกันลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น" ตัวแทนบริษัท
กล่าว พร้อมเสริมว่า เทคนิค "รูท" ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผ่นดีวีดี และสื่อประเภทอื่นๆ ได้
ยกเว้นแผ่นซีดีเสียง
ในอดีต อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ได้พยายามคิดค้นวิธีป้องกันการทำซ้ำอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้เทคนิคต่างๆ
นับตั้งแต่วิธีการเข้ารหัสข้อมูลรุ่นแรกๆ ไปจนถึงกุญแจฮาร์ดดิสก์ชนิดพิเศษ
แต่ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ ก็หันกลับไปใช้การตั้งรหัสเป็นตัวเลข/ตัวอักษร ตามลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท
ที่ผู้ใช้ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเจวีซี วางแผนจะเปิดขายแผ่นดิสก์แบบเข้ารหัสข้อมูล
ผ่านทางธุรกิจการบีบอัดซีดี-รอม และคาดว่า บริการดังกล่าว จะเพิ่มรายได้ให้บริษัทขึ้นอีก
10% ภายในปี 2546 อย่างไรก็ดี
บริการดังกล่าว ได้เปิดให้บริการแล้วในญี่ปุ่น
และจะเปิดให้บริการในสหรัฐภายในเดือนตุลาคมนี้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2545
|