"สุวิทย์" ดีเดย์ ทำแผนแม่บทไอทีรัฐเสร็จใน 1 เดือน
สุวิทย์" ดีเดย์คณะจัดทำแผนแม่บทไอที
หน่วยงานราชการไทยเสร็จใน 1 เดือน พร้อมเดินหน้าทำแผน
โครงสร้างหน่วยงานส่งเสริม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต่อให้เสร็จใน 2 เดือน ส่วนภาคเอกชนแนะรัฐ ตั้งกลุ่มย่อยดำเนินงานเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ
นายสุวิทย์ คุณกิตติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
(อี-กอฟเวิร์นเม้นท์) กล่าวว่า จะเร่งจัดทำร่างแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติในหน่วยงานรัฐบาล
(National IT Plan) ให้เสร็จภายใน 1
เดือน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐในภาพรวม อีกทั้งเพื่อเป็นกรอบให้หน่วยงานรัฐ
ทำแผนไอทีให้สอดคล้องกับกรอบของแผนแม่บทฉบับใหม่ด้วย
ทั้งนี้ในแผนแม่บทฉบับนี้
จะยกตัวอย่างหน่วยงานรัฐ ที่ลงทุนด้านไอที และสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะถึอเป็นหน่วยงานต้นแบบให้กับหน่วยราชการอื่นๆ ด้วย สำหรับการร่างแผนแม่บทแห่งชาตินี้
จะนำข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งได้รับงบประมาณจากธนาคารโลก
ในการประเมินการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ (ไอซีที) เพื่อช่วยให้การจัดทำแผนแม่บทดียิ่งขึ้นด้วย
ตั้งหน่วยซิป้าหนุนซอฟต์แวร์
นายสุวิทย์
ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดตั้ง หน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (SIPA:Software Industry
Promotion Agency) ด้วย ก็กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้
คณะกรรมการด้านซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ และเอกชนกว่า 10 คน จะประชุมกันเพื่อกำหนดบทบาท โครงสร้างหน่วยงานนี้ให้เสร็จภายใน
2 เดือน จากนั้นก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เพื่อพิจารณาอนุมัติ และดำเนินการจัดตั้งต่อไป หน่วยงานซิป้า
เป็นหน่วยงานที่บริหารงานอิสระแบบเอกชน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจแก่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
รวมถึงเน้นบริการแบบครบวงจรในจุดเดียว เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตเข้าเมืองของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
(โนว์เลจ เวิร์กเกอร์) การขอสิทธิการส่งเสริมการลงทุน
จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และอื่นๆ ในอนาคตซิป้า จะทำงานร่วมกับ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่จะจัดตั้งขึ้น
เพื่อร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต่อไป
แนะตั้งหน่วยย่อยร่วมงาน
นายจำรัส สว่างสมุทร เลขานุการ
สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า
การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ ภาคเอกชนอยากจะเห็นความชัดเจนทางปฎิบัติของแผนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ใน
3 ด้าน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐ
และสร้างมาตรฐานการใช้ไอทีให้เกิดขึ้น ได้แก่
1) กำหนดมาตรฐานการใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐานของหน่วยงานรัฐ
2) กำหนดมาตรฐานข้อมูลที่ใช้
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ (GDX: Government Data
Exchange) โดยต้องแบ่งปันการใช้ข้อมูลพื้นฐานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
3) รัฐต้องวางรูปแบบบริการแบบเวบ
เซอร์วิสแก่ประชาชน เพื่อทำให้เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้
รวมทั้งทำให้ใช้เทคโนโลยีของเวบ เซอร์วิส สร้างบริการแบบอัตโนมัติให้กับประชาชนได้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2545
|