รายงาน : ธุรกิจไอทีดาวรุ่งดวงใหม่ตลาดทุน
อุตสาหกรรมไอที
ซึ่งมีปริมาณการเติบโตอย่างต่อเนื่องระดับกว่า 10% โดยมียอดรายได้ประมาณการ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ และความสำเร็จ ของบริษัทไอที ที่เข้าจดทะเบียน
กระจายหุ้น (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์ฯถึง
4 บริษัทในปีที่ผ่านมาทำให้ปีนี้
บริษัทไอทีเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนใจดึงเข้าจดทะเบียน ถึง 1 ใน 3 ของบริษัทเป้าหมายรวม ทุกอุตสาหกรรม 75 บริษัท
ทั้งนี้ ในการเสวนาหัวข้อ "แนะนำตลาดทุนเส้นทางสู่การเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ"
ภายในงานเน็ตเวิร์ค กิ้ง ไนท์ ซึ่งจัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย
(เอทีซีไอ) เมื่อกลางสัปดาห์นี้ นางโสภาวดี
เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุนและตลาดหลักทรัพย์ใหม่ กล่าวว่า ปีนี้ (47) ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายชักจูงบริษัทในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและน่าสนใจต่อนักลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทุกอุตสาหกรรมประมาณ
75 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทไอทีประมาณ 25 ราย
และที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ และธุรกิจมีเดีย
รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมา "บูม" อีกครั้ง
สาเหตุที่กำหนดเป้าหมายดังกล่าว
เนื่องจากอุตสาหกรรมไอที หรือไอซีทีเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศ ที่จะสร้างการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงยิ่งขึ้น
อีกทั้งหากมีบริษัทไอทีเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้นก็จะสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจไอทีให้เติบโตตามไปด้วย
ซึ่งมากกว่าการที่จะมีเพียงบริษัทไม่กี่แห่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น "เปรียบเทียบเช่นเดียวกับตลาดร้านทอง เมื่อมีร้านเรียงกันจำนวนมากก็ทำให้ผู้ซื้อรู้ว่าจะซื้อยังแหล่งใด
จูงใจให้ซื้อมากกว่ามีไม่กี่ร้าน" เธอ กล่าว
แนวโน้มอุตสาหกรรมเติบโตอีกนาน
สำหรับอุตสาหกรรมไอที หรือไอซีที
ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกนาน โดยเมื่อพิจารณาจากการประมาณการตัวเลข
ซึ่งจัดทำโดยเอทีซีไอ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ)
ได้คาดการณ์ว่าตลาดไอซีทีไทยปี 47 จะมีมูลค่าสูงถึง
103,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15.90% แบ่งเป็น ฮาร์ดแวร์มูลค่าตลาด 67,193 ล้านบาทหรือ 65.12% ซอฟต์แวร์ 17,934 ล้านบาท หรือ 17.38% ไอทีเซอร์วิส 18,064 ล้านบาท หรือ 17.5% โดยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ มาจากนโยบายรัฐได้ส่งเสริมด้านไอซีที
รวมถึงลงทุนระบบไอทีทุกระดับ ตลอดจนกลุ่มโทรคมนาคม
ได้ลดค่าบริการเพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้มากขึ้น ทำให้ตลาดไอทีขยายตัวขึ้น เช่น
บอร์ดแบนด์ 1 ล้านพอร์ตในปี 47 จึงเอื้อต่อการเติบโตของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนเกิดการสร้างธุรกิจดิจิทัล คอนเทนท์ เพิ่มขึ้นรองรับการเติบโตในปีนี้ รวมถึงกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมเองยังคงเป็นกลุ่มที่มีการใช้ไอทีสูง
เพื่อจัดทำระบบบิลลิ่ง ลงทุนระบบซีอาร์เอ็ม และวอยซ์โอเวอร์ไอพี
เติบโตเพิ่มขึ้นหลังเข้าตลาดฯ
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีบริษัทไอที 4 ราย ทยอยเข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ใหม่
(MAI) และประสบความสำเร็จในการระดมทุน การขยายธุรกิจ
สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากเงินทุนที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี ได้แก่
บริษัททีเคเอส มีรายได้ปี 45 ก่อนเข้าตลาดฯ ประมาณ 4,870 ล้านบาท เมื่อถึงปี 46 หลังเข้าตลาดฯ
รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,539 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 34%
มีผลกำไรเฉลี่ยเติบโตขึ้น 44%
ส่วนบริษัทเอไอทีมีรายได้ในปี 45 ประมาณ 1,118
ล้านบาท ปี 46 รายได้ 1,722 ล้านบาท อัตราเติบโตของรายได้สูงขึ้น 54%
มีผลกำไรเติบโตขึ้น 27% และมีสินทรัพย์ในปี 46 ถึง 1,320 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 45 ถึง 134%
ขณะที่บริษัทไออาร์ซี ปี 45
มีสินทรัพย์ประมาณ 329 ล้านบาท ปี 46
เพิ่มขึ้นเป็น 415 ล้านบาท รายได้เติบโตขึ้น 7% กำไรสูงขึ้น 13% โดยตัวเลขรายได้
และการเติบโตดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงสภาพการเติบโตของธุรกิจไอทียังคงไปได้ดี รวมถึงเป็นที่น่าสนใจต่อนักลงทุนกันเป็นอย่างดี
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2547
|