สรรพัชญ โสภณ ถอดรหัสตลาดไอทีไทย เมืองไทยกำลังเป็น hot country
จากนโยบายของรัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทั้งส่งเสริมและผลักดันให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนำไอทีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกๆ
จุด เป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมไอซีทีเมืองไทยมีอนาคตสดใสมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทไอทีจากต่างประเทศแห่เข้ามาลงทุนลงหลักปักฐานในเมืองไทยมากขึ้น
ด้วยมองเห็นโอกาสที่อยู่ข้างหน้า ในโอกาสนี้ "ประชาชาติธุรกิจ"
ได้สัมภาษณ์พิเศษ "สรรพัชญ โสภณ"
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด
(ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี เป็นยักษ์ใหญ่ของวงการไอทีที่ขับเคี่ยวกับยักษ์สีฟ้าไอบีเอ็ม
นอกจากนี้ "สรรพัชญ" ยังสวมหมวกของนายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย
(เอทีซีไอ) อีกใบ มาฉายภาพธุรกิจไอทีปีลิงว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน
และยักษ์ใหญ่อย่างเอชพีได้วางแผนธุรกิจอย่างไรเพื่อสอดรับกับสภาพตลาดและการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
- มองภาพรวมของตลาดไอทีปีนี้อย่างไร
ตลาดไอทีปีนี้ไปได้ค่อนข้างดี ตอนนี้บริษัทต่างชาติได้ย้ายฐานเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ทำให้มีการลงทุนด้านไอทีมากขึ้นด้วย เพราะต่างชาติมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่ยาว ซึ่งก็จะมีผลทำให้โปรเจ็กต์ต่างๆ
ได้รับการสานต่อ ต่างจากอดีตที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยทำให้โครงการต่างๆ
ต้องชะลอไป ในส่วนของเอชพีก็มีการย้ายฐานในส่วนของการผลิตพีซีมาที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
โดยเป็นลักษณะของการจ้างโรงงานในประเทศไทยผลิตตามสเป็กและมาตรฐานคุณภาพของเอชพีทั้งหมด
นอกจากนี้ทางเอชพียังได้ย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่มาอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อการทำตลาดของบริษัทเช่นกัน
เพราะการที่มีฐานการผลิตใกล้ประเทศไทยก็ทำให้ต้นทุนทั้งในแง่ของค่าขนส่งและการรับประกันสินค้าต่างๆ
ดีขึ้นมาก นอกจากนี้เวลาในการผลิตก็ควบคุมได้ดีขึ้นไม่ต้องใช้ระยะเวลามากเหมือนที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมไอทีเมืองไทยถ้าเทียบกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย
หรืออื่นๆ ตอนนี้ตลาดเมืองไทยถือว่าเป็น hot country ของภูมิภาคมีการเติบโตสูงสุด
อย่างไรก็ตามตลาดเมืองไทยยังมีฐานที่เล็กมาก และอัตราการใช้ไอทีก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำทำให้มีโอกาสการเติบโตอีกมาก
- มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างหรือเปล่า
น่าเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่องคือ ปัญหาของไข้หวัดนกซึ่งต้องรอดูว่าจะมีผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจมากแค่ไหน
เพราะอุตสาหกรรมนี้ก็มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากเช่นกัน รวมถึงมีปัญหาความวุ่นวายที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ตลาดที่มีบทบาทสำคัญในปีนี้
3 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาแรงมาก เพราะว่าธุรกิจมีการแข่งขันกันรุนแรง
มีผู้ให้บริการรายใหม่อย่างทีเอ ออเร้นจ์ หรือฮัทช์เข้ามาในตลาด ทำให้ผู้ให้บริการทุกรายมีการลงทุนนำไอทีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบต่างๆ
เช่น ระบบบิลลิ่งใหม่ ซึ่งปีนี้อุตฯโทรคมนาคมก็ยังคงโตต่อ แต่จะไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมาแล้ว
ที่มาแรงของปีนี้ก็คือ เซ็กเตอร์ราชการและรัฐวิสาหกิจ เมื่อรัฐบาลนิ่งโปรเจ็กต์งานประมูลของภาครัฐก็เริ่มเกิด
และนายกรัฐมนตรีก็ผลักดันเรื่องการนำไอทีไปใช้ค่อนข้างมาก เชื่อว่าในช่วง 18
เดือนนับจากนี้จะมีโปรเจ็กต์ราชการไหลลื่นและเกิดขึ้นจำนวนมาก สำหรับภาคธุรกิจสถาบันการเงินก็เริ่มมีการลงทุนมากขึ้นหลังจากที่มีปัญหาเมื่อปี
1997 แบงก์มีปัญหาเรื่องเอ็นพีแอล ตอนนี้หลายๆ แบงก์ก็เริ่มเข้าที่มีข้อสรุปเรื่องการควบรวม
ก็ทำให้เริ่มมีการลงทุนด้านไอทีอีกครั้ง แต่สำหรับในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมคงจะชะลอตัวเป็นผลสืบเนื่องจากผลกระทบของไข้หวัดนก
แต่ก็ยังมีในอุตฯรถยนต์ที่มีการเติบโตที่ดี ซึ่งก็ทำให้ภาพรวมของเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตคงไม่เติบโต
- ตลาดภาครัฐมีโปรเจ็กต์อะไรน่าสนใจบ้าง
คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีโปรเจ็กต์ภาครัฐขนาดใหญ่หลายโครงการเช่น
ขณะนี้เอชพีก็ได้ร่วมกับทางบริษัท กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิส จำกัด ในการทำโปรเจ็กต์
GFMIS หรืออย่างโครงการ
สมาร์ตการ์ดก็เป็นโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ ในส่วนของเอชพีไม่ได้สนใจเรื่องตัวบัตรสมาร์ตการ์ด
แต่โครง การนี้มีระบบงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก
ซึ่งเอชพีก็มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการ สมาร์ตการ์ดแบบ end to
end ในหลายประเทศ อาทิ อิตาลี บัลแกเรีย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ให้ข้อคิดเห็นกับกระทรวงไอซีทีไปแล้ว
ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะบริการจัดการโครงการอย่างไร และมีอีกหลายๆ โครงการที่จะทยอยเกิดขึ้น
- ภาพการแข่งขันในตลาดจะเปลี่ยนไปอย่าง ไร
ปีนี้การแข่งขันของธุรกิจจะรุนแรง แนวโน้มรายเล็กรายน้อยจะหดหายไป ซึ่งผลจากวิกฤตเศรษฐ
กิจทำให้แต่ละองค์กรต้องโฟกัสการทำธุรกิจมากขึ้นเพื่อให้อยู่รอด นั่นก็คือการทำธุรกิจที่ตัวเองมีความชำนาญ
ซึ่งทำให้รูปแบบของการเอาต์ซอร์ซไอทีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะแต่ละธุรกิจและอุตสาห
กรรมจะมุ่งเน้นการทำธุรกิจที่ตัวเองถนัดเท่านั้น ส่วนเรื่องไอทีซึ่งยุ่งยากซับซ้อนก็ให้บริษัทด้านไอทีเข้ามารับเอาต์ซอร์ซ นอกจากนี้
ในภาครัฐก็มีแนวโน้มของการเอาต์ซอร์ซมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งภาครัฐจะมีปัญหาเรื่องบุคลากรเพราะคนไอทีค่าตัวสูงไม่มีใครยอมทำงานอยู่ในภาครัฐ
ดังนั้นรูปแบบของเอาต์ซอร์ซก็จะช่วยแก้ปัญหาได้
การที่รูปแบบของการเอาต์ซอร์ซเข้ามามีบทบาทก็ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป
องค์กรหรือบริษัทขนาดเล็กก็อาจจะต้องควบรวมกันเพราะการที่จะมาทำเรื่องเอาต์ซอร์ซจะต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องคน
ต้องมีเงินและมีโนว์ฮาวเพราะไม่ใช่แค่การขายสินค้า ซึ่งบริษัทคนไทยก็ทำได้ระดับหนึ่ง
แต่สำหรับเอชพีแล้วจะมีประสบการณ์การทำงานมาจากทั่วโลก ประสบการณ์คือความผิดพลาด
เมื่อรู้ว่าทำแล้วเจ็บก็ไม่ทำ แต่คนที่ไม่เคยก็ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เอชพีก็มีประสบการณ์ในการควบรวมกิจการกับคอมแพคมา
18-19 เดือน เป็นการรวมระบบที่แตกต่าง ความคิดที่แตกต่าง เป็นการบริหารความเปลี่ยนแปลงขององค์กรก็มีทำถูกบ้างผิดบ้าง
แต่จากประสบการณ์ที่เราค้นพบก็จะนำมาช่วยลูกค้า
- ช่วยขยายความที่บอกว่ารายเล็กจะหดหายไปจากตลาด
เป็นแนวโน้มของตลาด ผู้ที่ไม่มีความแข็งแกร่งก็จะต้องหายไป
เป็นการไดรฟ์ของตลาด เนื่องจากแนวโน้มความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของการเอาต์ซอร์ซมากขึ้น
เพราะต้องการบริการแบบ one stop ไม่ต้องยุ่งยากกับการติดต่อกับหลายๆ
บริษัท เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยความต้องการของลูกค้าทำให้ภาพของอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนตามแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
100% เรื่องนี้เป็นแนวโน้มของตลาดโลกซึ่งในอเมริกาเกิดมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ถึงเวลาของเมืองไทย
- อย่างนี้จะกระทบกับคู่ค้าของเอชพีหรือไม่
อุตสาหกรรมนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน ดังนั้นพาร์ตเนอร์ก็จะต้องมีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน
การบริหารจัดการตลอดเวลา ทุกคนต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อที่จะอยู่รอด เอชพีก็มีหน้าที่ชี้แนะว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร
ไม่ใช่ว่าเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเรื่องคนใครออกใครเข้า
ทุกอย่างถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะตอนนี้ตลาดไอทีไทยมีปัญหาว่าพัฒนาคนไม่ทันกับความต้องการของตลาด
เพราะฉะนั้นการแย่งคนก็เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะไอบีเอ็ม และเอชพีจะเป็น 2 องค์กรที่ถูกแย่งคนไปมากที่สุด
- การที่เอชพีเสียผู้บริหารระดับสูงไปพร้อมกัน 2 คนมีผลกระทบแค่ไหน
โดยข้อเท็จจริงก็ย่อมมีผลกระทบแต่โชคดีที่ความรับผิดชอบของทั้งคุณอโณทัย
(เวทยากร) และคุณประเสริฐ (จรูญไพศาล) เป็นธุรกิจที่ทำผ่านพาร์ตเนอร์ทั้งหมด ทำให้มีผลกระทบไม่มากเพราะคู่ค้าก็ยังสามารถขายสินค้าได้ตามปกติ
แต่การที่บุคลากรของบริษัทหายไปก็ย่อมต้องหาคนใหม่มาทำงานและมาเทรนกันใหม่
- ตอนนี้ได้คนหรือยัง
กำลังคุยกันอยู่หลายๆ คนก็ไม่ง่ายเพราะทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญต้องเข้าใจตลาดและปรับตัวทำงานร่วมกับเราได้
- มีโอกาสเป็นคนนอกวงการหรือไม่
ทั้งในและนอกวงการ ซึ่งก็ยอมรับว่าคนนอกวงการก็มีโอกาสสูงเพราะปัจจุบันคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับไอทีกันมากขึ้น
สินค้าไอทีกลายเป็นสินค้าคอนซูเมอร์มากขึ้น ผู้บริหารที่รู้เรื่องไอทีก็ถือว่าเป็นเบสิกของตลาด
แต่ที่จะต้องดูคงจะเป็นเรื่องของการแมเนจเมนต์มากกว่า รวมถึงวิธีการทำตลาด การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย
- ปีนี้เอชพีมีเป้าหมายธุรกิจอย่างไร
เอชพีเป็นองค์กรใหญ่ที่มีสินค้าและบริการที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดี
บริษัทแม่ตั้งเป้าหมายว่าบริษัทจะต้องมีการเติบโตมากกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งปีนี้ตลาดเมืองไทยจะมีการเติบโตประมาณ
15% เอชพีคงอยู่ที่ 15-20% นอกจากนี้จะต้องสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไม่ให้ลดลง
หรือต้องได้ส่วนแบ่งมากขึ้น หมายความว่าเราต้องไปกินตลาดของคู่แข่ง ปีนี้ตลาดจะโตในส่วนของซอฟต์แวร์และเซอร์วิสมากกว่า
ฮาร์ดแวร์คงโตไม่มาก
- มองผลกระทบจากโปรเจ็กต์ไอซีทีอย่างไร
ก็คงต้องมีผลกระทบกับผู้ประกอบการเอกชนบ้าง เพราะกลุ่มคนซื้อเป็นกลุ่มเดิม
เมื่อลูกค้าซื้อคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรแล้วก็คงไม่ซื้อคอมพิวเตอร์เอชพี เป็นโครงการที่ดีทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
ทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวมากขึ้น มีการพัฒนาสินค้าที่ดีขึ้น
ทำให้ระดับราคามาตรฐานในตลาดลดลง ถือว่าโดยภาพรวมแล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เอชพีก็สนใจเข้าไปร่วมสนับสนุนกำลังศึกษาข้อมูลและสเป็กต่างๆ
- 6 เดือนกับตำแหน่งเอ็มดีของเอชพี
ทุกอย่างเป็นที่น่าพอใจ จุดแข็งของเอชพีคือเป็นบริษัทไอทีเซอร์วิสที่มีสินค้าครบวงจร
แต่เอชพีก็เป็นองค์กรใหญ่ที่เราจะต้องทำให้คนในองค์กรเดินไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการจัดบ้านให้เข้าที่
ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดบ้านไปแบบเล็กๆ ทุกอย่างไปได้ดีเกินคาดเพราะปัญหาที่คิดว่าจะเยอะก็ไม่เยอะอย่างที่คิด
สำหรับปัญหานั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงาน เพราะหน้าที่ของผมคือต้องแก้ปัญหา
ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่มีงานทำ
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547
|