น้ำมัน-หวัดนก-ใต้ ส่งผลไอทีปรับเป้าโตเหลือ 10%
หลังมรสุมราคาน้ำมัน หวัดนก และสถานการณ์ใต้
กระหน่ำจากต้นปีถึงปัจจุบัน โดยปราศจากแรงต้าน ล่าสุด เอทีซีไอ ก็ประกาศปรับเป้า
อัตราการเติบโต ของธุรกิจไอที ลงเหลือ 10% ด้านการ์ทเนอร์
แจงผลสำรวจองค์กรใช้การจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ลดค่าใช้จ่ายไลเซ่น 19% ภาครัฐ เป็นกลุ่มแรกนำร่องใช้งาน
นายสรรพัชญ โสภณ นายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ)
กล่าวว่า แนวโน้มตลาดรวมไอทีไทยปีนี้
จะมีอัตราการเติบโตลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้ 11.8% เมื่อต้นปี
เหลือ 10% เหตุปัจจัยรุมเร้าภายนอกเข้ามาพร้อมกัน 3 ปัจจัยหลัก ทั้งราคาน้ำมันที่ยังไม่มีทีท่าจะลดระดับลง ปัญหาไข้หวัดนก
รวมถึงปัญหาภาคใต้ "ปีนี้ ผมว่า
ภาพรวมตลาดไอทีไทยไม่น่าจะสดใสเหมือนต้นปีที่เราคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะถ้าราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นสูง
และถ้าปีหน้า ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นอีก ตลาดไอทีไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตที่หดตัวลง
ส่วนปัญหาทางภาคใต้อาจไม่กระทบมากนัก เพราะเหตุการณ์เกิดเป็นช่วงๆ" นายสรรพัชญ กล่าว กระนั้น ก็เห็นว่า โครงการไอทีใหญ่ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้
คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่โครงการใหม่ๆ
ที่จะออกมาจากภาคเอกชนอาจได้รับผลกระทบบ้างบางส่วน แต่โดยสรุปแล้วในช่วงภาวะเช่นนี้
อาจยังไม่เห็นโครงการไอทีใหม่ๆ ออกจากภาคเอกชนนัก
เตือนเอสเอ็มอีใช้ไอทีสร้างประโยชน์
อย่างไรก็ตาม นายสรรพัชญ คาดว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
ข้างต้นมากที่สุด คือกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมัน เพราะจะกระทบถึงต้นทุนการผลิต
การขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องใช้เวลาดูสถานการณ์ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งธุรกิจประเภทเอสเอ็มอีควรหันมาใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
พร้อมกันนี้ เขากล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด
(ประเทศไทย) จำกัด ว่า เอชพี
ตั้งเป้าจะต้องมีอัตราการเติบโตมากกว่าตลาด 2 เท่า โดยสิ้นปีนี้คาดว่า
จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 20% ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของบริษัทอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี
20% และกลุ่มองค์กรใหญ่ 80%
ใช้แซมลดค่าใช้จ่ายไลเซ่น
นางสาวเดอร์รี่ มิทเชล ผู้อำนวยการ
บริษัทการ์ทเนอร์ คอนซัลติ้ง บริษัทวิจัยด้านไอทีระดับโลก กล่าวถึงผลการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์
(บีเอสไอ)
เรื่องการจัดการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset
Management:SAM) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า
ผลสำรวจองค์กรที่ใช้งานเครื่องมากกว่า 2,500 เครื่อง และใช้แซมนานกว่า
6 เดือน ในหลายอุตสาหกรรม จำนวน 10
องค์กรใน 7 ประเทศพบว่า การนำแนวคิดการจัดการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ไปประยุกต์ใช้ในองค์กร
ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดซื้อไลเซ่นซอฟต์แวร์ลง 19% โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคม
นอกจากนั้น การประเมินสถานะซอฟต์แวร์ที่มีอยู่และความต้องการใช้งานจริง ได้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรขึ้น
ลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความปลอดภัยบนเครือข่าย การละเมิดใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย
ลดการใช้ซอฟต์แวร์ไม่มาตรฐาน ลดการสนับสนุนด้านเทคนิคกับผู้ใช้ลง
ซึ่งบางองค์กรลดได้ถึง 50% รวมถึงลดค่าใช้จ่าย 17% ด้านต้นทุนการซ่อมและบำรุงรักษาระบบ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2547
|