ไอเอสพี โหมบุกแลนไร้สายเจาะธุรกิจต่างชาติ

ชี้ปีหน้าเห็นภาพ ไอเอสพีจับมือทำตลาดร่วมกัน
ไอเอสพี ปั้นบริการเน็ตความเร็วสูงผ่านเครือข่ายไร้สาย (ไวร์เลส แลน) รุกทั่วประเทศสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าเปิดตลาดจากกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับบริการอยู่แล้ว เชื่อต้นปีหน้าจะเห็นภาพไอเอสพีจับมือกันสร้างรูปแบบบริการอินเทอร์เน็ต บนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อร่วมแชร์ต้นทุนให้บริการ พร้อมเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้า

 

นายธัชพงษ์ โหตรภวานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนรุกตลาดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย (ไวร์เลส แลน) อย่างจริงจังภายในสิ้นปีนี้ โดยเบื้องต้นนี้ได้จับมือกับผู้ประกอบการ 2 ราย เพื่อเจาะลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และศูนย์ประชุม เนื่องจากมองว่า กลุ่มเป้าหมายหลักที่จะใช้บริการในช่วงแรก จะเป็นนักธุรกิจต่างชาติ ที่มีความพร้อมกว่ากลุ่มเป้าหมายภายในประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับและใช้งานทั่วไปแล้ว ประกอบกับเป็นการส่งเสริมช่องทางการทำตลาดใหม่ของบริษัท รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัยให้กับเจ้าของสถานที่

 

สำหรับการให้บริการนั้น บริษัทจะติดตั้งอุปกรณ์แม่ข่ายไร้สายไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการ อาทิ ชั้นที่นักธุรกิจเข้าพัก, บริเวณล็อบบี้โรงแรม, ห้องจัดงาน (ฟังก์ชัน รูม) เป็นต้น ส่วนรูปแบบการคิดค่าบริการ จะคิดเป็นรายชั่วโมง โดยสร้างแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตในรูปแบบชุดคิท สำหรับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และวางขายบริเวณล็อบบี้โรงแรม อัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 50-100 บาท รวมทั้งอาจเตรียมการ์ดไวร์เลส แลน ไว้ให้ลูกค้าเช่าด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักธุรกิจต่างชาติส่วนใหญ่มีการ์ดดังกล่าวอยู่แล้ว

 

ด้านนายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีเอส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนให้บริการดังกล่าวในชื่อ "ฮอทสปอต (Hotspot)" ในปลายปีนี้เช่นกัน โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ตามพื้นที่เชิงยุทธ์ศาสตร์ (สแตรทิจิก โลเกชั่น) สำคัญหลายแห่ง คิดอัตราค่าบริการ 180 บาทต่อชั่วโมง และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 1,000 รายในช่วงต้น

 

เคเอสซี เล็งเปิดทั่วประเทศ

นายประพนธ์ พงษ์ประพัฒน์ ผู้จัดการช่องทางจำหน่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวบริการรูปแบบดังกล่าวพร้อมกัน ในจังหวัดสำคัญหลายแห่งทั่วประเทศ ภายในปลายปีนี้ โดยคาดว่าอัตราค่าบริการจะอยู่ในระดับ 50-60 บาทต่อชั่วโมง โดยเขามองว่ากลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการนี้เป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ เพราะจากข้อมูลเชื่อว่าผู้ใช้บรอดแบนด์ในประเทศเองมีจำนวนเพียง 15% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จึงอาจต้องใช้ระยะเวลาให้ตลาดยอมรับก่อน

 

คาดปีหน้าถึงยุค "อินเทอร์เน็ต พูล"

นายธัชพงษ์ กล่าวต่อว่า ในปลายปีนี้การให้บริการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จะยังอยู่ในรูปแบบของเอ็กซ์คลูซีพ คือ ในสถานที่หนึ่งจะมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว แต่ในต้นปีหน้า เชื่อว่าจะเริ่มมีการจับมือระหว่างไอเอสพี ผ่านการเจรจากันเอง เพื่อโยงระบบเข้าด้วยกัน ให้ลูกค้าเกิดความสะดวกในการใช้บริการ นอกจากนี้ ปัจจัยผลักดันส่วนหนึ่ง ยังมาจากความต้องการให้บริการของเจ้าของสถานที่ ซึ่งแม้จะต้องการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่ก็ไม่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์แม่ข่ายไร้สายไว้หลายแห่ง ดังนั้นรูปแบบที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้ใช้บริการที่มีแพ็คเกจของไอเอสพีแต่ละราย เมื่อเข้ามาใช้บริการจากเครื่องแม่ข่ายไร้สายจะใช้แพ็คเกจต่างๆ ได้ทันที โดยใช้การพิมพ์รหัสและรหัสผ่าน เช่นเดียวกับการต่ออินเทอร์เน็ตทั่วไป "รูปแบบการเชื่อมต่อก็จะคล้ายกับการใช้บริการ 1222 คือ หมายเลขเดียว แต่ไอเอสพีทุกรายสามารถเข้ามาเชื่อมต่อได้ บริการนี้ก็ใช้แค่ยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดเท่านั้น โดยไม่ต้องใช้หมายเลขเรียกเข้า" นายธัชพงษ์ กล่าว ส่วนไอเอสพีที่ลงทุนด้านอุปกรณ์ จะอยู่ในฐานะของผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีสิทธิในการเรียกเก็บเงินค่าบริการ หรือหากผู้ลงทุนอุปกรณ์ไม่ใช่ไอเอสพี แต่เป็นคนกลาง ก็สามารถจับมือกับไอเอสพีทุกราย และเรียกเก็บค่าบริการได้

 

ขณะที่ นายอนันต์ กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายเปิดกว้างในการเจรจากับไอเอสพีรายอื่น โดยมองรูปแบบการจับมือกับพันธมิตรว่า ควรเป็นการเชื่อมต่อลักษณะเดียวกับระบบเอทีเอ็ม ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายมีสถานที่ติดตั้งเครื่องแล้ว แต่โยงระบบเข้าด้วยกัน สำหรับรูปแบบการจับมือนั้น อาจมีหรือไม่มีคนกลางก็ได้ โดยเชื่อว่าจะส่งผลดีในการขยายพื้นที่การให้บริการ

 

ไอเน็ต ติงยังเสี่ยงเกินไปที่จะลงทุน

นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทสนใจในการลงทุนขยายบริการดังกล่าวเช่นกัน เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาลงทุนที่เหมาะสม เนื่องจาก ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขณะที่ เทคโนโลยีให้บริการไวร์เลส แลน นั้นจำเป็นต้องขออนุญาตคลื่นความถี่ และเมื่อการจัดตั้ง กทช. แล้วเสร็จ องค์กรดังกล่าว ก็จะเข้ามามีบทบาทเรื่องการออกใบอนุญาตให้บริการ รวมถึงกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน มองว่าการให้บริการในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อค่อนข้างดี อาจไม่ค่อยสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เนื่องจากเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย จะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อในพื้นที่ระยะไกล ที่ไม่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไว้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.