ISP ปรับแนวรบเลิกสงครามราคา จับมือพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม
สมรภูมิตลาด
'ไอเอสพี' เปลี่ยนแนวรบใหม่เลิกสงครามราคา 'ไอเอสพี' ฉีกกลยุทธ์เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าหลากรูปแบบ
ทั้งจับมือพันธมิตรให้เป็นส่วนลดซื้อบริการและสินค้าแบรนด์ดัง จัดแคมเปญชิงโชค
ดร.ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น
เซอร์วิส จำกัด หรือ 'ล็อกซอินโฟร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
(ไอเอสพี) กล่าวกับ 'ประชาชาติธุรกิจ' ถึงสภาพตลาดรวมไอเอสพีในปีนี้ว่า
ปัจจุบันไอเอสพีต่างๆ เริ่มรู้ว่าการดัมพ์ราคาลงมาต่ำกว่าความเป็นจริงในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจขาดทุน
ทำให้ปีนี้ต้องขยับราคาให้สูงขึ้นตามที่ควรจะเป็น ซึ่งตนเชื่อว่าในปีนี้จะไม่เห็นการกดราคาลงไปต่ำกว่านี้อีกแล้ว
'ในปีนี้เราจะไม่เห็นการกดราคาลงมาต่ำกว่านี้อีกแล้ว แม้ในปีที่ผ่านมาราคาถูกกดลงมาต่ำมากเพราะบริการอินเทอร์เน็ตเป็นสินค้าแบบพรีเพด
ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนผู้ให้บริการง่าย ตลาดจึงเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ส่งผลให้ราคาค่าบริการถูกกดลงมามากจนต่ำกว่าทุน
ไอเอสพีหลายรายรู้ว่าอัตราค่าบริการดังกล่าวทำให้ธุรกิจไปไม่รอด จึงต้องเร่งปรับตัวหารายได้หรือธุรกิจเสริมรวม
ทั้ง หาบริการอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ' ทั้งนี้
ตนได้ปรับทิศทางธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต โดยแยกกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้าองค์กรที่เป็นรายได้หลักของบริษัท โดยจะเน้นความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มด้วยการเสนอบริการอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร
(วัน-สต็อป-เซอร์วิส)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นบริการขั้นต้นของอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับบริษัท
โดยเสนอบริการด้านระบบความปลอดภัยเป็นแพ็กเกจเดียวกับบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าที่เช่าวงจรรายเดือน
นอกจากนี้ ยังมีบริการไอดีซี (Internet Data Center) หรือศูนย์ข้อมูลทาง
อินเทอร์เน็ตที่มีสิงเทลเป็นพันธมิตรด้านการ ตลาด บริการฝึกอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์
บริการเอาต์ซอร์ซหรือรับดูแลระบบให้กับลูกค้าอีกด้วย
สำหรับลูกค้าอีกกลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา
โดยบริษัทจะออกแพ็กเกจรูปแบบต่างๆ ตามความนิยมและความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้
เช่น การออกแบบบัตรบริการอินเทอร์เน็ตให้มีรูปภาพดาราไว้สะสม และสามารถใช้เป็นบัตรส่วนลดสินค้าและบริการต่างๆ
ของพันธมิตร โดยเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับบัตรให้มากที่สุดนอกเหนือจากการเป็นบัตรบริการอินเทอร์เน็ต
'ค่าบริการอินเทอร์เน็ตมีอัตราต่ำมาก การลดราคาลงอีกคงทำได้ลำบาก
เราจึงต้องหาอะไรมาเสริมโดยเสริมคุณค่าให้กับบัตรอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ
โดยจะดูตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย คาดว่าในช่วงกลางปีนี้เราจะสามารถเปิดตัวความร่วมมือดังกล่าวได้'
แคมเปญแรกที่ออกมาทดสอบตลาดเป็นบริการสอนใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งออกมาพร้อมกับบัตร
'1222 เว็บ ทีโอที' บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไอพี
1222 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)
โดยไม่จำกัดชั่วโมงใช้งานและไม่มีการตัดระหว่างการใช้งาน ราคา 400 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณ 8 แสนบาทต่อเดือนหลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีบัตร 'เว็บเน็ตไอฟอร์ทีน' บริการอินเทอร์เน็ต 15 ชั่วโมง ราคา 180 บาท หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 12 บาท
ที่มีรูปภาพดารานักร้องค่ายแกรมมี่ฯบนบัตร รวมทั้งรูปนาฬิกายี่ห้อสวอท์ช
และการ์ตูนมอนสเตอร์อิงค์ให้สะสมอีกด้วย โดยปัจจุบันมียอดขายรวมประมาณ 13,000 ชุด ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เอ็มเว็บ-เคเอสซีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 'เอ็มเว็บ' ได้เปิดตัวโปรแกรม 'ฟูลฟิล ยัวร์ ไลฟ์สไตล์' สำหรับลูกค้าอินเทอร์เน็ตรายเดือนที่สมัครสมาชิก 6
เดือน และ 12 เดือน โดยเสนอ 4 โปรโมชั่น
ได้แก่ บัตรออกกำลังกายฟรี 7 วัน จากแคลิฟอร์เนีย ฟิตเน็ต
เซ็นเตอร์, ผลิตภัณฑ์จากร้านพร็อพพะกันดา, บัตรส่วนลดจากพิซซ่า ฮัท และบัตรชมภาพยนตร์จากโรงภาพยนตร์ยูไนเต็ด
อาร์ติสต์ รวมทั้งรางวัลบัญชีเงินฝาก 1 แสนบาทให้สมาชิกที่สมัคร
12 เดือนได้ลุ้นโชคอีกด้วย ด้านสามารถ อินโฟเน็ต ผู้ให้บริการ
'สามารถ คอนเนค' ก็ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดอินเทอร์เน็ต
โดยจัดแคมเปญคืนเงินให้ลูกค้าหากไม่พอใจสินค้าและบริการที่ได้รับ ซึ่งเริ่มที่บริการ
'มายการ์ดซิตี้' ก่อนเพื่อดูผลตอบรับจากลูกค้า
โดยลูกค้าสามารถคืนแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตได้หลังจากใช้งานครั้งแรกไม่เกิน 3 ชั่วโมง และลูกค้าจะต้องนำสติกเกอร์ 'มันนี่ แบ็ก
การันตี' มาขอคืนเงินที่บริษัทบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545
|