ไอพีสตาร์ ขุมทรัพย์ดวงใหญ่ส่องรายได้ชินแซท
มุ่งดาวเทียมบรอดแบนด์อันดับ 1 ของโลก
ดาวเทียมไอพีสตาร์
ซึ่งกำลังจะยิงขึ้นสู่วงโคจรภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากเลื่อนกำหนดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
นับเป็นฐานรายได้ในอนาคตที่สำคัญของเครือชิน คอร์ป อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้
เนื่องมาจากสมรรถนะของดาวเทียม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
ทั้งนี้ จากการที่บริษัท ชิน
แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการดาวเทียมรายใหญ่อันดับ
2 ของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียม 3
ดวง ได้แก่ ไทยคม 1-3 ให้บริการครอบคลุมทวีปเอเชีย
ออสเตรเลีย แอฟริกา และยุโรป มีแผนยิง 'ดาวเทียม ไอพีสตาร์'
หรือไทยคม 4 ขึ้นสู่วงโคจรภายในไตรมาส 4 นี้ ผู้บริหารประกาศเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไอพี สตาร์ ก้าวสู่การให้บริการดาวเทียมที่รองรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
(บรอดแบนด์) อันดับ 1 ของโลก ด้วยศักยภาพของตัวดาวเทียมเองที่มีสมรรถนะในการส่งสัญญาณสูงถึง 40
กิกะบิตต่อวินาที ขณะที่ดาวเทียมทั่วไปจะมีสมรรถนะอยู่ระหว่าง 3-4 กิกะบิตเท่านั้น รวมทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียมไทยคม 3 ถึง 20 เท่าด้วย
นายดำรง เกษมเศรษฐ์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตั้งเป้าเป็นอันดับ 1
กิจการดาวเทียมรองรับบริการบรอดแบนด์ เนื่องจากบริษัทเข้าตลาดเป็นรายแรก
จึงย่อมเป็นข้อได้เปรียบ ต่างจากดาวเทียมเดิม ที่คงยากจะแข่งขันกับดาวเทียมระดับโลกอื่นๆ
ซึ่งปูพรมบริการรองรับการด้านกระจายสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์มาก่อนได้ สำหรับเป้าหมายอันดับ
1 ที่ตั้งไว้ จากการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ เพื่อนำไปสู่รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล
หรืออย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากรายได้ที่ชินแซท
เคยได้รับ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตลาดบริการดาวเทียมในปัจจุบันมีมูลค่า
100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนผลกำไร คาดการณ์ว่า
หากยิงดาวเทียมได้ไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ จะเริ่มสร้างรายได้ในปีแรกของการให้บริการประมาณ
22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในปีถัดไป
ส่วนปีที่ 2 คาดว่า ดาวเทียมศักยภาพสูงดวงนี้จะสร้างรายได้ให้
ชินแซท ถึง 172 ล้านดอลลาร์ จากนั้นปีที่ 3 จะเพิ่มเป็นกว่า 244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากขายช่องสัญญาณเพื่อใช้ศักยภาพครบทุกด้านได้ถึง
50% ของศักยภาพการใช้งานทั้งหมดก็จะคุ้มทุนแล้ว ขณะที่การลงทุนใช้สร้างดาวเทียมกินเวลากว่า
3 ปีดวงนี้ใช้งบลงทุน 443 ล้านดอลลาร์ และขณะนี้ขายช่องสัญญาณกับลูกค้าถึง
70% แล้ว
ขณะที่ไอพี
สตาร์เตรียมยิงขึ้นสู่วงโคจรนั้น ส่งผลดีต่อความสนใจของนักลงทุนอย่างดีเช่นกัน
เมื่อชินแซท เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป หรือหุ้นไอพีโอ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) หากยังกำหนดไม่ได้
เนื่องจากต้องดูภาวะตลาดประกอบด้วย แต่เชื่อมั่นว่ายังอยู่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะตลาดหุ้นมีทิศทางที่ดีขึ้น และต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ
เป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาวะการลงทุนในครึ่งปีหลังจะส่งผลดีต่อการขายหุ้นพีโอของบริษัท
ไอพี สตาร์เสริมรายได้กลุ่มชิน
นอกจากเป้าหมายเพื่อให้บริการตามศักยภาพของไอพี
สตาร์โดยตรงแล้ว ข้อดีของไอพี สตาร์ ยังส่งเสริมรายได้ต่อธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มชินที่ให้บริการอยู่ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งจากกระแส-ทิศทางการใช้บริการโทรคมนาคมในโลก
ล้วนไปในทิศทางเดียวกันคือ ลดการใช้โทรศัพท์พื้นฐานไปเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยเฉพาะในพื้นที่กันดาร ห่างไกล อันเป็นพื้นที่ยากต่อการเดินสายไฟเบอร์
หรือสายทองแดงได้ทั่วถึง เพื่อให้บริการโทรคมนาคมได้
ในส่วนของไอพี สตาร์นั้น
เทคโนโลยีรองรับการเพิ่มศักยภาพโทรคมนาคมทั้งด้านเสียง ข้อมูล มัลติมีเดีย
บรอดแบนด์ มีช่องทางการทำตลาด เสนอจุดเด่นทางเทคโนโลยีที่ได้เปรียบให้กับลูกค้าผู้ให้บริการโทรศัพท์ (โอเปอเรเตอร์) เจาะกลุ่มผู้ใช้บริการในพื้นที่ซึ่งยังเข้าไปไม่ถึง
อันจะนำมาซึ่งรายได้ในอนาคตของโอเปอเรเตอร์ได้
นำร่องลาว
เชื่อมบริการโทรศัพท์-บรอดแบนด์
ขณะเดียวกัน
ประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือวางระบบโครงข่ายโทรคมนาคม เป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญที่ไอพีสตาร์จะเจาะตลาดเข้าไปด้วยเช่นกัน
เนื่องจากมีจุดเด่นเรื่องต้นทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีอื่น เช่น ไมโครเวฟ หรือเคเบิลใยแก้ว
ถึง 3 เท่า ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ ชินแซท ได้ทุ่มเทเงินลงทุนเต็มที่สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในลาว
ซึ่งเห็นภาพที่ชัดเจนก่อนจะขยายผลนำเสนอไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ชินแซท
ได้เปิดเกตเวย์ในลาว ภายใต้การบริการของ ลาว โทรคม บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว 51% และกลุ่มชินในชื่อเชนนินตัน ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ 49% ด้วยงบ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลาว โทรคม จ่ายเงินลงทุนทำเกตเวย์
1.2 ล้านดอลลาร์ อีก 3 แสนดอลลาร์ที่เหลือรัฐบาลลาวเป็นผู้จ่าย
งบประมาณดังกล่าว
แบ่งเป็นการลงทุนด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม 12 ล้านดอลลาร์ ระบบโทรศัพท์พื้นฐานแบบไร้สายด้วยเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ 2000
1x บนคลื่นความถี่ 450 เมกะเฮิรตซ์
และโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ 2000 1x คลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ 4 ล้านดอลลาร์
และขยายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่ม 2-3 ล้านดอลลาร์
จากงบประมาณการลงทุนในลาวทั้งถึงปี 2549 ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใช้งบไปแล้วกว่า 70% โดยแอพพลิเคชั่นแรกจากไอพีสตาร์
ในลาว เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากเครือข่ายกว่า 80 สถานีทั่วประเทศ โดยระบบเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย ทรังค์กิ้ง) ของไอพี สตาร์
เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีควบคุม และสถานีปลายทางในพื้นที่ห่างไกลให้รับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทั่วประเทศ
รวมถึงเพื่อประโยชน์ในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บรอดแบนด์ และอื่นๆ ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศลาว
สะท้อนมุมมองการขยายตลาดของกลุ่มชิน
สำหรับการลงทุนในครั้งนี้
ชินแซทเล็งอนาคตอันยาวไกล และยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะนำกลยุทธ์นี้ หรือดัดแปลงนำเสนอตัวอย่างที่เกิดขึ้นในลาว
ไปใช้ในประเทศอื่นๆ เพราะลาว โทรคม ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งระบบจีเอสเอ็ม
900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์อยู่แล้ว
ขณะที่เตรียมให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานระบบซีดีเอ็มเอ 450 เมกะเฮิรตซ์
ซึ่งจะเริ่มให้บริการ 1 ก.ย.นี้ และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอ 2000 1x ความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ใน ม.ค.
ปี 2548 สำหรับอุปกรณ์โครงข่ายซีดีเอ็มเอ
ในลาวนั้น เลือกซื้อจากบริษัทหัวเหว่ย โดยไอพี สตาร์ จะเชื่อมโยงโครงข่ายด้วยสัญญาณดาวเทียม
ให้ครอบคลุมพื้นที่ประชากร ที่ยังเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะอุปสรรคที่ผ่านมาแม้มีประชากรที่ต้องการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่
แต่การวางระบบไปไม่ถึง ทำให้เสียโอกาสการตลาด ดังนั้นการรุกตลาดในลาวด้วยไอพี
สตาร์นี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้โทรศัพท์ทั้งระบบพื้นฐานและเคลื่อนที่เป็น 1 ล้านรายภายในปี 2549 นี้
จากปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์ทุกระบบรวมกันประมาณ 200,000
รายและจะเป็น 250,000 รายภายในสิ้นปีนี้
ตลอดจนให้บริการบรอดแบนด์ เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ลาวในการให้บริการอี-กอฟเวิร์นเมนต์ อี-คอมเมิร์ซ ต่อไป
โดยเหตุนี้ลาวจึงกลายเป็นประเทศหนึ่งที่วางระบบสื่อสาร
โทรคมนาคมทันสมัย จนขนาดที่นายอธิป ฤทธาภรณ์ กรรมการสภาบริหาร ลาว โทรคม ซึ่งเป็นผู้บริหารจากกลุ่มชิน
กล่าวว่า ในลาวมีการวางโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า
บมจ.
ทศท คอร์ปอเรชั่น นั่นเป็นเพราะประเทศลาวลงทุนเทคโนโลยีทีหลังไทย จึงเป็นข้อได้เปรียบเพราะได้เทคโนโลยีทันสมัยกว่า
รวมถึงเป็น 'ต้นแบบ' ให้กลุ่มชิน
ทดสอบเทคโนโลยีและบริการที่มีอยู่ นอกจากโทรศัพท์พื้นฐาน ทั้งเทคโนโลยีมีสาย
ใช้คลื่นวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ บรอดแบนด์ และบริการอื่นๆ
ในอนาคต ผ่านบริษัทลาวโทรคม แห่งนี้ และในอนาคต ชินแซท จะใช้ไอพี
สตาร์เป็นตัวขยายธุรกิจไปประเทศอื่นๆ ต่อยอดจากต้นแบบที่เกิดขึ้นในลาวไปทั่วโลกต่อไป
เชื่อมโยงธุรกิจมือถือรองรับ 3 จี
สิ่งที่น่าสนใจของรูปแบบทางธุรกิจในลาว
อย่างหนึ่งคือ เลือกใช้ระบบซีดีเอ็มเอมาให้บริการ ซึ่งนายอธิป กล่าวไว้ว่า เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะ
?กีดกัน? คู่แข่งอื่นก่อนเข้าทำตลาดเดียวกัน ทั้งยังได้เปรียบในเชิงเทคโนโลยีที่มุ่งสู่
3จี และมีไลเซ่นให้บริการโทรศัพท์ระบบ 3จีได้ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้คู่แข่งอื่นๆ จึงยากที่จะแข่งขันได้
เพราะเป็นย่านความถี่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยการให้บริการโทรศัพท์ระบบซีดีเอ็มเอ
บริษัทคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 38.2 ล้านดอลลาร์ เป็น 40 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และมีหลายรายอยู่ระหว่างการติดต่อรัฐบาลลาวเพื่อทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทำก่อนจะมีคู่แข่งเข้ามาแน่นอน จึงต้องเร่งสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุดก่อนคนอื่น
ซึ่งลาว โทรคมได้ทุ่มงบประมาณการตลาดปีนี้ไว้ประมาณ 100
ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 20% เพื่อรองรับบริการที่จะเพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน หากมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ของไทยจัดตั้งขึ้น กลุ่มชินคอร์ปจะร่วมเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1900
เมกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือในยุค 3จี สำหรับการให้บริการในไทย และจากข้อได้เปรียบที่มีเทคโนโลยีครบวงจรนี้ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มให้เติบโตต่อไป
'ไอพีสตาร์มีประโยชน์มากสำหรับการใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณในพื้นที่ห่างไกล
อย่างในชนบท หรือพื้นที่ซึ่งเคเบิลและไมโครเวฟไม่คุ้มค่าในการลงทุน เช่น ระบบ 470
เมกะเฮิรตซ์ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น ก็สามารถนำคลื่นความถี่นี้มาให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานด้วยเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอได้อย่างในลาวเช่นกัน
เพื่อให้สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็ว 150
กิโลบิตต่อวินาที ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทศท เช่าใช้ปัจจุบัน' นายดำรง กล่าว
ส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมรายแรกในไทย
จากการขายช่องสัญญาณดาวเทียม
ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน กินยาว หากขายได้แต่ละช่องแล้ว ชินแซท ยังได้เล็งเห็นลู่ทางสร้างรายได้จากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม
ทั้งอุปกรณ์เกตเวย์ และเทอร์มินัล ดาวเทียม สำหรับลูกค้าที่เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมดวงอื่นอยู่แล้ว
แต่มีปัญหาเรื่องการหาอุปกรณ์เทอร์มินัลให้สามารถทำงานร่วมกันทั้งระบบได้ โดยอนาคตตลาดด้านนี้จะเติบโตยิ่งขึ้น
ซึ่งคาดว่าปี 2548 จะจำหน่ายอุปกรณ์เกตเวย์และเทอร์มินัลได้ประมาณ
10,000 ชุดผ่านการทำตลาดร่วมกับพันธมิตร
และหลังยิงดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว หากคืนทุนได้ครึ่งหนึ่งของมูลค่าดาวเทียมที่ราว 400 ล้านดอลลาร์ ก็จะพิจารณาสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์ดวงที่ 2 ขึ้น ตามปริมาณความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้ชินแซท เป็นบริษัทโทรคมนาคมในไทยรายแรกและรายเดียวในปัจจุบันที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดโลก
สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ
ทั้งนี้ เป็นการผันบทบาทจากผู้บริการดาวเทียมย่านเอเชียแปซิฟิกในปีนี้
ส่วนปีหน้าจะขยายไลน์มาเป็นผู้จำหน่ายด้วย หลังจากที่ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี
2539
ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีประเทศในแถบละตินอเมริกา อินเดีย
ติดต่อเข้ามาแล้ว และต่อไปจะจำหน่ายไปทั่วโลก ทำตลาดร่วมกับพันธมิตรนำเอาเทคโนโลยี
ไอพีสตาร์ ผนวกกับอุปกรณ์ของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่าทำงานร่วมกันได้กับทุกยี่ห้อ
เช่น อีริคสัน โนเกีย ซีเมนส์ และอัลคาเทล สำหรับรายได้ทางตรงและจะเป็นรายได้ที่ยั่งยืนนี้มีมากกว่า
70% ของขอบเขตพื้นที่ให้บริการแล้ว โดยจีน
สร้างรายได้จากการให้บริการจำนวน 25% ประเทศอินเดีย 15% ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ประเทศละ 10%
รายได้จากไทยประมาณ 7%
ทั้งนี้ การรุกตลาดของชินแซท
จะเสริมสร้างรายจากต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีรายได้กว่า 90% จากต่างประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปี 2547 มีรายได้ทั้งสิ้น
1,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท
หรือ 5% จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
มีรายได้ในลาวเพิ่มขึ้น 3% เป็น 147.8
ล้านบาท จาก 143.4 ล้านบาทในระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ในประเทศกัมพูชามีรายได้
198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จาก 191 ล้านบาทจากรอบระยะเวลาเดียวกันของปี 2546 โดยชินแซท
มีรายได้รวมจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตจากบริษัทย่อย เพิ่มขึ้น 73.9% เป็นเงิน 357 ล้านบาท สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจภายหลังการรวมกิจการระหว่างซีเอส
อินเตอร์เน็ต และล็อกซ์อินโฟ หนึ่งในผู้นำธุรกิจอินเทอร์เน็ตของไทย นอกจากนี้ชินแซทเทลไลท์ได้ดำเนินโครงการไอพีสตาร์
และสามารถขายอุปกรณ์ปลายทางระบบไอพีสตาร์ (IPSTAR User Terminal: UT) เพิ่มขึ้น 529%
เมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ
191 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.44 บาท
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2547
|