"ไอดีซี" เปิดผลวิจัยตลาดไอทีไทย ชูธง "เอสเอ็มอี" ฐานลูกค้าที่ยิ่งใหญ่
"ไอดีซี" เปิดผลวิจัยตลาดไอทีในภูมิภาคเอเชียและไทย
ระบุกลุ่มลูกค้า "เอสเอ็มอี" เข้ามาเป็นฐานลูกค้าสำคัญของธุรกิจไอทีหลังบริษัทยักษ์ใหญ่ชะลอการลงทุน ระบุเมืองไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า
6.8 แสนราย ขณะที่ธุรกิจบริการด้านไอทีสร้างเม็ดเงินกว่า 36,500 ล้านบาท คาดปี 2550 ตลาดไอทีไทยโตทะลุ 1.2 แสนล้านบาท
นายเจสัน
แคดดีส์ ผู้จัดการประจำไอดีซี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีการใช้จ่ายด้านไอทีทั้งสิ้นประมาณ
88,000 ล้านบาท (2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 11.8%
คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น และคาดว่าในปี 2004-2005 ตลาดไอทีไทยมีการเติบโตสูงกว่าอินโดนีเซีย,
มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยคาดว่าในปี 2550
ตลาดจะมีการขยายตัวถึง 120,000 ล้านบาท (3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ
10.1%
สำหรับการใช้จ่ายด้านไอทีในประเทศไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 79,200
ล้านบาท (1.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นสัดส่วนของฮาร์ดแวร์ 69.8% มูลค่า 1.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ธุรกิจบริการด้านไอที 21.6% มูลค่า 428 ล้านเหรียญสหรัฐ (17,120 ล้านบาท) และซอฟต์แวร์ 8.6%
มูลค่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายแคดดีส์กล่าวว่า
แนวโน้มของธุรกิจบริการไอทีไทยจะมีการขยายตัวมากขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,500 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 16% และคาดว่าภายในปี
2551 จะมีมูลค่าประมาณ 36,500 ล้านบาท
โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30%
จากมูลค่าการใช้จ่ายไอทีรวมทั้งประเทศ
กลุ่มลูกค้าที่มีการใช้จ่ายด้านไอทีสูงในปีนี้ 3 อันดับแรกประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมการผลิต มีปัจจัยจากโรงงานขนาดกลางเริ่มลงทุนติดตั้งระบบบริหารทรัพยากรองค์กร
(อีอาร์พี) รวมทั้งการลงทุนระบบเว็บเซอร์วิสและเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น
2.กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กที่เตรียมรับการแข่งขันในตลาด และ
3.หน่วยงานภาครัฐที่มีนโยบายการลงทุนด้านไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับประชาชน
นอกจากนี้ ไอดีซีระบุว่าตลาดที่น่าสนใจอีกกลุ่ม คือ กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
(เอสเอ็มอี) เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุน
ส่งผลให้ตลาดที่มีความต้องการใช้ไอทีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในธุรกิจตามมาด้วย
กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีนี้จะเป็นตลาดสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนด้านไอทีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ
683,000 ราย และปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 22% ในขณะที่มีองค์ กรขนาดใหญ่ประมาณ 505 ราย
และองค์กรขนาดกลาง 4,682 ราย
นายกิจจา อิงอุดมนุกูล
นักวิเคราะห์อาวุโสด้านซอฟต์แวร์และบริการด้านไอที บริษัทเดียวกันกล่าวว่า แนวโน้มของตลาดซอฟต์แวร์จะเติบโตเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณความต้องการบริการด้านไอที
ส่งผลให้ตลาดซอฟต์แวร์มีความคึกคักและมีผู้ ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดเดิมก็จะมีการร่วมพันธมิตรในการทำตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในธุรกิจและขยายตลาดใหม่ๆ
ในตลาดโลกจะเห็นการควบรวมหรือซื้อกิจการคู่แข่งเพื่อเสริมจุดเด่นของโซลูชั่นและลดต้นทุนธุรกิจ
สำหรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทต่างประเทศที่เข้ามามีการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
(R&D) หรือนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด ขณะเดียว
กัน ปริมาณการลงทุนซื้อสินค้าใหม่ในตลาดกลับมีน้อยลง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ด้านไอทีมากขึ้น
จึงหันไปเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่เดิมขึ้นมาใช้งานแทน เพื่อเป็น
การลดต้นทุนในธุรกิจ
จากการสำรวจตลาดที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่มีการลงทุนด้านซอฟต์แวร์สูงแต่ยังไม่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน
จึงได้ชะลอการลงทุนในปีนี้ ผู้ทำตลาดซอฟต์แวร์จำเป็นต้องมีการปรับลดราคาหรือลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ภายในประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน
รวมทั้งสร้างจุดเด่นด้านประสิทธิภาพการใช้งานที่ใกล้เคียงกับซอฟต์แวร์ต่างประเทศ แต่มีราคาที่ต่ำกว่าและง่ายต่อการใช้งาน
เหมาะกับประเภทของธุรกิจ
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2547
|