ไอดีซี-การ์ทเนอร์ฟันธงตลาดพีซีไตรมาสสองสดใส
บริษัทวิจัยตลาดชื่อดัง
ประสานเสียงตลาดพีซีไตรมาสสองขยายตัวเกินคาด โดยเฉพาะสหรัฐ
เหตุราคาลดลงและผู้บริโภคนิยมโน้ตบุ๊คมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่น และเอเชีย-แปซิฟิกซบเซาต่อเนื่องหลังได้รับผลกระทบหนักจากซาร์ส
สงคราม และภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัว
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล
รายงานโดยอ้างตัวเลขของบริษัทไอดีซี ว่า ยอดขายพีซีในไตรมาสสองของปีนี้
จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 7.6% เป็น 33.2 ล้านเครื่อง
เช่นเดียวกับบริษัทการ์ทเนอร์ อิงค์. ซึ่งระบุว่า ยอดขายพีซีจะเพิ่มขึ้น
10% เป็น 32.8 ล้านเครื่อง โดยเป็นการเติบโตติดต่อกัน
4 ไตรมาสของตลาดพีซี และเป็นอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี
2543 เป็นต้นมา อีกทั้งยังดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ซึ่งบริษัทไอดีซี และบริษัท การ์ทเนอร์ คาดว่า จะมีการเติบโตเพียง 4.1% และ 7% ตามลำดับ
"ตลาดพีซี
กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหมาะสม" นายลอเรน
โลเวอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายติดตามความเคลื่อนไหวตลาดพีซีทั่วโลกของไอดีซี กล่าว พร้อมเสริมว่า
การแข่งขันด้านราคาจากผู้ผลิตพีซี และความต้องการพีซีเครื่องใหม่ของผู้บริโภค ทำให้ตลาดแห่งนี้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล็บท็อป และโน้ตบุ๊ค ซึ่งนักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า เป็นผลจากผู้บริโภคนิยมการประมวลผลแบบไร้สายและพกพา
กระนั้น นายชาร์ลส์ สมัลเดอร์ส
รองประธานบริษัทการ์ทเนอร์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าตลาดพีซีฟื้นตัวอย่างถาวรแล้ว
เนื่องจาก ต้องขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ
และผลกระทบจากวงจรการเปลี่ยนเครื่องขององค์กรธุรกิจ ที่ปัจจุบัน
บริษัทในสหรัฐส่วนใหญ่ยังคงใช้นโยบายรัดเข็มขัดอยู่ อย่างไรก็ดี
ยอดขายพีซีทั่วทุกภูมิภาคเพิ่มขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่น และเอเชีย-แปซิฟิก จะอ่อนตัว
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจซบเซา และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส โดยไอดีซี
และการ์ทเนอร์ ระบุว่า โดยเฉพาะอย่างสหรัฐ ซึ่งมียอดขายพีซีเพิ่มขึ้น 8.1% และ 11% ตามลำดับ
สำหรับค่ายผู้ผลิตพีซีชั้นนำ 3 บริษัท
ที่มียอดขายสูงสุดในไตรมาสสอง คือ บริษัทเดลล์ คอมพิวเตอร์ คอร์ป. ซึ่งยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ได้ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 17.8 -
17.9% เมื่อเทียบกับ 14.9%
ของไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทเอชพี รั้งอันดับสอง
โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 15.4-15.8% เป็น
16.1-16.2% ส่วนบริษัทไอบีเอ็ม อยู่ในตำแหน่งที่สาม
มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 6.6-6.7% จาก 6.3-6.5%
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2546
|