ชี้ไทยลดละเมิด 10% เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจพันล้านดอลล์
ไอดีซี เผยผลศึกษา
หนุนการลดละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 57 ประเทศทั่วโลก ชี้หากไทยลดการละเมิดลง
10% ใน 4 ปี
จะช่วยสร้างงานไอทีระดับสูงเพิ่มอีก 3,500 ตำแหน่ง
และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภายในปี 2549
นายโจนาธาน เซวาสกาเม
ประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ประจำประเทศไทยและอินโดนีเซีย
กล่าวว่า จากผลการศึกษาของไอดีซี ภายใต้การสนับสนุนจากบีเอสเอ ในหัวข้อ "การกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก : ประโยชน์จากการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์"
ระบุว่า หากประเทศไทยสามารถลดอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ลง 10% หรือเฉลี่ยปีละ 2.5% จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยครอบคลุมทั้งการสร้างงานด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระดับสูงประมาณ 3,500 ตำแหน่ง, เพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีอีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ จากผลสำรวจล่าสุดในปี 2544
ประเทศไทยมีอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ 77% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ไม่รวมอินโดจีน ขณะที่นางโรบิน เจียง ผู้จัดการฝ่ายวิจัย และรองผู้อำนวยการ ส่วนธุกิจด้านการวิจัยเชิงกลยุทธ์และการลงทุนด้านไอที
ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของไอดีซี กล่าวว่า เกณฑ์การวิจัยครั้งนี้อยู่บนผลสำรวจการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกของบีเอสเอ
และประสบการณ์ของไอดีซีในการจัดทำประมาณการด้านการใช้จ่ายด้านไอที โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของซอฟต์แวร์
โดยผลการศึกษาเฉพาะ 14 ประเทศในเอเชีย
พบว่าจากมูลค่าตลาดรวมซอฟต์แวร์ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น
คิดเป็นสัดส่วนถึง 14% ของการใช้จ่ายด้านไอที พร้อมกันนั้น
รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า การลดอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะช่วยเร่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอที
โดยหากไทยลดการละเมิดลงเหลือ 67% ใน 4
ปี จะช่วยให้อุตสาหกรรมไอทีขยายตัวเพิ่มอีก 2 เท่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีประมาณการว่า
อุตสาหกรรมไอทีในภูมิภาคนี้จะเติบโต 54% ในช่วงปี 2544-2549 แต่หากลดการละเมิดลงได้ 10%
การเติบโตของธุรกิจไอทีจะเพิ่มเป็น 93% นอกจากนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอที
ยังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีของประเทศด้วย โดยที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านไอทีในไทย
คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของจีดีพี ขณะที่ตัวเลขในประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำกว่าไทยจะสูงกว่า
เช่น สิงคโปร์ 3.9%, ญี่ปุ่น 3.6%, สหรัฐอเมริกา
3.8% เป็นต้น
จับตาการละเมิดผ่านเน็ตเพิ่ม
ด้านนายเจฟเฟอรี่ย์ ฮาร์ดี้ รองประธาน และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ
กล่าวว่า บีเอสเอ ยังมองถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต
โดยเฉพาะในรูปแบบการซื้อขายบนเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซ ปัจจุบัน บีเอสเอ ได้พัฒนา
"Web Crawler" ซึ่งเป็นระบบตรวจจับ (monitoring)
เวบไซต์จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลก และเริ่มดำเนินการแล้วในสหรัฐอเมริกา
โดยตรวจจับเวบไซต์กลุ่มนี้ได้ประมาณ 5,000 เวบไซต์ต่อเดือน รวมถึงอยู่ในขั้นทดสอบก่อนจะนำมาใช้กับเวบไซต์ในเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งมองว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนการลดอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ได้ และในกรณีของบางประเทศ
เช่น ไทย ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับปัญหาการละเมิดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างชัดเจน หากตรวจพบเวบไซต์ดังกล่าว
ก็จะประสานความร่วมมือไปยังไอเอสพี ที่เวบไซต์นั้นๆ เช่าพื้นที่ (โฮสติ้ง) อยู่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2546
|