รายงาน : ไอดีซีชี้อุตฯผลิต ธนาคาร และรัฐบาลใช้จ่ายด้านไอทีสูงสุด
ไอดีซี เปิดเผยรายงานล่าสุดพบภาคการผลิต
ธุรกิจการธนาคาร และหน่วยงานรัฐบาล เป็นอุตสาหกรรม
ที่มีการใช้จ่ายด้านไอทีมากที่สุด ตลอดปี 2546 ชี้ส่วนใหญ่นำไปใช้แก้ปัญหาสำคัญในองค์กร
ขณะที่ระบุภาพรวม จะแตกต่างตามสภาพการณ์ของแต่ละภูมิภาค
สำนักข่าวซีเน็ต
รายงานโดยอ้างผลการศึกษาของบริษัทไอดีซี ในเมืองฟรามิงแฮม มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ว่า
การใช้จ่ายด้านไอทีของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะมีมูลค่าสูงถึง 121,900
ล้านดอลลาร์ ขณะที่หน่วยงานด้านการธนาคารและรัฐบาล จะใช้จ่ายประมาณ 107,500 ล้านดอลลาร์ และ 96,600 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ สถิติดังกล่าว
เป็นส่วนหนึ่งของคำทำนายจากบริษัทไอดีซี ซึ่งระบุว่า การใช้จ่ายด้านไอทีของอุตสาหกรรมต่างๆ
จนถึงปีหน้าจะไม่มีความแน่นอน โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทวิจัยแห่งนี้ ได้เคยคาดว่า
การใช้จ่ายทั่วโลกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม จะเติบโตมากกว่า 6% ในปีนี้ ด้วยมูลค่าสูงถึง
1.9 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี คำทำนายดังกล่าว
นับเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมไอที ซึ่งต้องการฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำซบเซา ขณะที่
ผลการวิจัยของบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อต้นเดือน ระบุว่า ในปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ลงจากปี
2545 ประมาณ 1%
ธุรกิจสื่อสารและขนส่งซบ
รายงานบริษัทไอดีซี
แนะนำให้บริษัทขายอุปกรณ์และบริการด้านไอที พิถีพิถันกับการคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
เมเรดิธ วาเลน นักวิเคราะห์บริษัทไอดีซี กล่าวว่า
การใช้จ่ายด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นในตลาดส่วนใหญ่ ยกเว้นธุรกิจสื่อและการสื่อสาร
อุตสาหกรรมบริการขนส่ง โดยแนวโน้มของธุรกิจดังกล่าวในอเมริกาเหนือเต็มไปด้วยความหวาดกลัว
ความไม่แน่นอน และความสงสัยเกี่ยวกับข่าวการล้มละลายของบริษัทเอนรอน ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหารบริษัทต่างๆของไอดีซีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
พบว่า มีเพียง
42% เท่านั้น ที่คิดว่า จะมีการฟื้นตัวทางธุรกิจใน 6 เดือน นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ที่จะผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายทางธุรกิจ
"พวกเราไม่ได้เห็นคิลเลอร์
แอพพลิเคชั่นตัวใหม่ เหมือนดังเช่นอินเทอร์เน็ตอีกเลย" วาเลน
กล่าว พร้อมเสริมว่า บริษัทให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงความมั่นคงภายในประเทศ
โดยคาดว่า หน่วยงานแห่งนี้ จะทุ่มเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สำหรับนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เนื่องจาก การฟื้นฟูภัยพิบัติ และผลิตภัณฑ์ไอทีด้านความปลอดภัย มีความสำคัญต่อภาครัฐบาลของประเทศนี้
นำใช้แก้ปัญหาองค์กร
ขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ
ตั้งใจจะใช้เงินซื้อผลิตภัณฑ์ด้านไอที เพื่อแก้ปัญหาสำคัญขององค์กร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร
ซึ่งต้องการรักษาลูกค้าให้ใช้บริการกับธนาคารนานๆ ได้นำระบบซีอาร์เอ็มมาใช้ ส่งผลให้มีการลงทุนไอทีด้านนี้สูงที่สุด
ส่วนธุรกิจค้าปลีกนั้น บริษัทต่างๆ พยายามค้นหาแนวทางเพื่อให้บริการที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า
ผ่านทางระบบอิน-สโตร์ เช่น ระบบเซลฟ์-เช็คเอาท์ ที่ช่วยให้ลูกค้าซื้อของได้เร็วขึ้น
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประกันภัย ที่จะเน้นการป้องกันข้อมูลลูกค้าโดยใช้ระบบความปลอดภัยของข้อมูลรุ่นใหม่
ภาพรวมแตกต่างตามภูมิภาค
รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุอีกว่า
ภาพรวมของการใช้จ่ายด้านไอที จะมีความแตกต่างไปตามแต่ละภูมิภาคของโลก
ในทวีปยุโรปตะวันตก โอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ จะประกอบด้วยซอฟต์แวร์จัดการธุรกิจสำหรับธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและเล็ก
และระบบซีอาร์เอ็มสำหรับบริการสาธารณะ ส่วนยุโรปกลางและตะวันออก ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
และความนิยมของการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ จะผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านไอที
ตัวแทนบริษัทไอดีซี กล่าวว่า
โทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมหลักของเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งนายแกรี โก
นักวิเคราะห์บริษัทไอดีซีประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
อธิบายว่า เมื่อตลาดสื่อสารไร้สายในภูมิภาคแห่งนี้เติบโตเต็มที่ ผู้ให้บริการจะต้องการรักษาลูกค้าของตัวเองเอาไว้
ส่วนในละติน อเมริกา นายอเล็กซ์ แมนฟรีดิซ นักวิเคราะห์บริษัทไอดีซีประจำละติน อเมริกา
เปิดเผยว่า การลดค่าเงินบาทในอาร์เจนตินา ทำให้อัตราเงินเดือนกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจ
อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาค ซึ่งคาดกันว่า ภายในปี 2549
ภาคการผลิตจะขยับจากอันดับสามเป็นธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเแห่งนี้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2546
|