รายงาน : ไอดีซีหนุนบ.เอเชียคิดนวัตกรรมยกระดับสู่เวทีโลก
ไอดีซีแนะบริษัทเอเชียเพิ่มกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา
พร้อมสวมบทผู้นำการประดิษฐ์ทรัพย์สินทางปัญญา ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อเป็นมาตรวัดนวัตกรรมใหม่อย่างหนึ่ง
ไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งผลิตสินค้าโออีเอ็มต้นทุนต่ำของโลกเท่านั้น
ทั้งนี้ความสำเร็จของเอเชียในฐานะฐานการผลิตต้นทุนต่ำ
กลายเป็นหนามยอกอกสร้างปัญหาให้กับบริษัทท้องถิ่นที่ต้องการขยายตลาดไปคว้ากำไรจากประเทศนอกภูมิภาค
นายเดน แอนเดอร์สัน รองประธานบริษัทไอดีซี เอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า ธุรกิจเทคโนโลยีในเอเชียอิงอยู่กับการผลิตสินค้าป้อนยักษ์ใหญ่วงการไอที
ที่มีแนวโน้มจะยุติการทำตลาดที่มีโอกาสสร้างกำไรได้เป็นจำนวนมหาศาลแห่งนี้ มากจนเกินไป
จากการบรรยายที่งานสัมมนาไดเร็คชั่นส์ 2003 ของบริษัทไอดีซี
นายแอนเดอร์สัน ระบุว่า บริษัทไอทีเอเชียส่วนใหญ่ เน้นการพึ่งพาค่าตอบแทนจากการรับจ้างผลิตมากจนเกินไป
ขณะเดียวกันก็ไม่มีแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ธุรกิจเอเชียมีแนวโน้มจะทำตามภูมิภาคอื่นของโลก
โดยจะศึกษาข้อดีและนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างกำไรจากตลาดในประเทศ นายแอนเดอร์สัน
กล่าว
หลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ได้พิสูจน์ได้เห็นแล้วว่า
เป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำของยักษ์ใหญ่วงการไฮเทคระดับโลก โดยทุกวันนี้ บริษัทรับจ้างผลิต
(โออีเอ็ม)
ในประเทศเหล่านี้ ผลิตทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่คอมพิวเตอร์
โทรศัพท์มือ ถือ อุปกรณ์พกพา ป้อนให้กับบริษัทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเดลล์
คอมพิวเตอร์ บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด และบริษัทโนเกีย นักวิเคราะห์ระบุว่า
เฉพาะไต้หวันประเทศเดียว สามารถผลิตแผงวงจรหลักพีซีส่งขายทั่วโลกได้กว่า 80%
ขณะที่โน้ตบุ๊คราวครึ่งหนึ่งของโลกก็ผลิตจากเกาะแห่งนี้
อย่างไรก็ดี ธุรกิจรับจ้างผลิตอุปกรณ์
มีกำไรไม่มากนัก เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้น
ทำให้การเติบโตในระยะยาวของบริษัทเหล่านี้ มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น นายแอนเดอร์สันกล่าวอีกว่า
โดยมากบริษัทเอเชีย ไม่มีชื่อเสียงเรื่องการส่งสินค้าออกขายในตลาดโลก แต่จะเน้นการเจาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเสียส่วนใหญ่
พร้อมยกตัวอย่างบริษัท เช่น อีริคสัน และ โนเกีย ซึ่งพึ่งพายอดขายจากต่างประเทศ หรือบริษัทจากสหรัฐ
อย่างไมโครซอฟท์และไอบีเอ็ม ที่รายได้กว่าครึ่งมาจากตลาดนอกประเทศ
ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบริษัทในเอเชีย อย่าง หัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมในจีน และลีเจนด์ ธุรกิจพีซี ซึ่งรายได้กว่า 75% มาจากยอดขายในท้องถิ่น แม้ว่าความต้องการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ไม่ได้ทำให้บริษัทเหล่านี้โดดเด่นในตลาดโลก นายแอนเดอร์สันกล่าว
เพื่อกินส่วนแบ่งตลาดไอทีโลกและท้าทายยักษ์ใหญ่เหล่านี้
บริษัทเอเชีย ควรจะเพิ่มกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสวมบทผู้นำในการประดิษฐ์ทรัพย์สินทางปัญญา
การยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรกับสำนักงานเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรสหรัฐ (ยูเอสพีทีโอ)
เป็นมาตรวัดนวัตกรรมใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งนายแอนเดอร์สันกล่าวว่า เอเชียยังมีโอกาสอีกมาก
จากสถิติของยูเอสพีทีโอ พบว่า เมื่อปี 2544
สหรัฐยื่นจดสิทธิบัตรทั้งสิ้น 87,610 ฉบับ ขณะที่ไต้หวัน
ซึ่งมีผลประกอบการดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น
จดทะเบียนสิทธิบัตรเพียง 6,544 ฉบับ ตามมาด้วยจีนและอินเดีย
ซึ่งยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร 266 และ 179 ฉบับตามลำดับ
การวิจัยและพัฒนา เป็นที่มาสำคัญของนวัตกรรม แต่บริษัทเอเชียไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการเปิดตัวสินค้า
ซึ่งเป็นระยะที่มีความเสี่ยงและท้าทายสูง เนื่องจากแนวคิดและผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่นำออกวางตลาดอาจไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย
แม้ว่าจะได้รับรางวัล ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าก็ตาม นายแอนเดอร์สันกล่าว
โซนี่-ซัมซุงนำร่องยกระดับ
อย่างไรก็ดี บริษัทเอเชียบางแห่ง เช่น โซนี่ และ
ซัมซุง ได้พัฒนาตัวเองสู่เวทีระดับโลก ซึ่งนายแอนเดอร์สันเชื่อว่า เป็นเพียงความสำเร็จเล็กๆ
น้อยๆ และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถต่อกรกับคู่แข่งรายใหญ่ได้อย่างแท้จริง
พร้อมทำนายว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี
หรือมากกว่านั้น ก่อนที่บริษัทเอเชียจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เล่นระดับนานาชาติได้ บริษัทที่มุ่งมั่นตามแนวทางดังกล่าว
ประกอบด้วย บริษัทลีเจนด์ และหัวเหว่ยในจีน ผู้ให้บริการไอที อย่าง ไวโปร อินโฟซิส
สัตยัม และทาทา ของอินเดีย รวมถึงบริษัททีเอสเอ็มซี และยูไนเต็ด
ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จากไต้หวัน
ตลาดเอเชียยังมีโอกาส
อย่างไรก็ตาม ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกยังคงความน่าสนใจ
ซึ่งนายโธมัส แกนสวินด์ ประธานกลุ่มสารสนเทศและสื่อสารด้านเครือข่าย (ซีเมนส์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ตเวิร์ค หรือไอซีเอ็น)
บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า เอเชีย-แปซิฟิก
เป็นตลาดที่มีโอกาสดีของระบบเครือข่ายโทรคมนาคม จากจำนวนคู่สาย และจำนวนเลขหมายต่อผู้ใช้ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
ทั้งการเติบโตยังเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มองโอกาสการเติบโตของตลาดระบบสื่อสารโทรคมนาคมในเอเชียแปซิฟิกนั้นมีมาก
ไม่เฉพาะการเติบโตของจีน แต่ยังรวมถึงเกาหลี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนบริษัทข้อมูลและวิจัย
เคยกล่าวว่า ตลาดไอทีในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2546 เนื่องจากการอัพเกรดโครงสร้างระบบโทรคมนาคม
ทำให้ระดับการเติบโตจะสูงถึง 11% คิดเป็นมูลค่าราว 81,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงอัตราการฟื้นตัวในญี่ปุ่น พร้อมคาดว่า
ตลาดฮาร์ดแวร์ต่างๆ อาทิ คอมพิวเตอร์บุคคล, เครื่องแม่ข่ายระดับกลางและระดับล่าง
รวมทั้งเครือข่ายเฉพาะบริเวณ หรือแลน (local area networks - LAN) จะกระเตื้องขึ้นจากปี 2545 เช่นกัน จากปริมาณคอมพิวเตอร์บุคคลในเอเชีย-แปซิฟิกจะสูงกว่า 100 ล้านเครื่อง และปริมาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะสูงกว่า
400 ล้านเครื่อง ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2546 จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 165 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ราว
25 ล้านคน ขณะเดียวกัน ตลาดโทรคมนาคมในเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตขึ้นในระดับ 11% ด้วยเช่นกัน โดยคิดเป็นมูลค่าราว
137,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะยังคงซบเซาในภูมิภาคอื่นๆ
ของโลก
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม
2546
|