'ไอดีซี' ทำนายอนาคตตลาดไอทีปีแพะ พีซีโลคอลแบรนด์ยึดตลาด 70%


ทิศทางตลาดรวมไอทีปี 2546 จะเป็นอย่างไร ? คงไม่มีใครมีคำตอบได้ดีเท่ากับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือไอดีซี ซึ่งได้สรุปว่ามูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปี 2545 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 73,745 ล้านบาท (1,715 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน 43 บาท/1 เหรียญสหรัฐ) เติบโตจากปี 2544 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 67,639 ล้านบาท (1,573 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพียง 9% ซึ่งต่ำกว่าที่ไอดีซีได้ประมาณการไว้เมื่องช่วงต้นปีว่าจะเติบโตถึง 20%

โดยนางสาวศิริพร พรหมรัตน์ ผู้จัดการทั่วไปหน่วยงานวิจัยตลาดและข้อมูล กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช ตัวแทนบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (ไอดีซี) ประเทศไทย ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาสงครามอิรัก ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายด้านไอทีลง ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศย่านเอเชีย

ไอดีซีคาดการณ์ว่าในปี 2546 ตลาดไอทีไทยจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 83,076 ล้านบาท (1,932 ล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตจากปี 2545 ประมาณ 12.7% ปัจจัยที่จะทำให้ตลาดเติบโตสูงขึ้นคือ สภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับโครง สร้างของหน่วยงานราชการ สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคากันค่อนข้างรุนแรง ปี 2545 ที่ผ่านมามีตลาดรวมทั้งสิ้น 800,426 เครื่อง และคาดว่าปี 2546 จะเพิ่มขึ้นถึง 958,440 เครื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 19.7% แต่หากดูในแง่ของมูลค่าตลาดจะมีการเติบโตประมาณ 13.2% เท่านั้น เนื่องจากระดับราคาของพีซีลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้การเติบโตในแง่รายได้ไม่มาก

ตลาดพีซีที่มีการเติบโตในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัว ของตลาดโน้ตบุ๊ก โดยประเมินว่าถึงสิ้นปียอดขายรวมจะสูงถึง 1.3 แสนเครื่อง และคาดว่าปี 2546 ตลาดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.7 แสนเครื่อง ในขณะที่ตลาดพีซีตั้งโต๊ะนั้นมีการเติบโตไม่มาก และมีแนวโน้มการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

นางสาวศิริพรชี้แจงว่า ปี 2545 พีซีโลคอล แบรนด์มีการขยายตัวสูงจนมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 65% ขณะที่อินเตอร์แบรนด์เหลือสัดส่วนเพียง 35% นอกจากนี้ไอดีซียังได้คาดการณ์ว่าในปี 2546 สัดส่วนของโลคอลแบรนด์จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% อย่างไรก็ตาม 'ฮิวเลตต์-แพคการ์ด' ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และตามด้วยเอเซอร์ ส่วนอันดับ 3 นั้นเป็นของโลคอลแบรนด์

สำหรับตลาดพรินเตอร์ปีที่ผ่านมามีตลาดรวมทั้งสิ้น 710,403 เครื่อง ด้วยมูลค่า 5,578.82 ล้านบาท (129.74 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากเมื่อปี 2544 มีจำนวน 603,214 เครื่อง ด้วยมูลค่า 4,805.25 ล้านบาท (111.75 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ที่น่าสังเกตคือในปี 2546 ตลาดพรินเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 749,215 เครื่องคิดเป็นอัตราการเติบโต 5% แต่มูลค่าตลาดจะลดลงเหลือเพียง 5,122.16 ล้านบาท (119.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของตลาดพรินเตอร์จะไปอยู่ที่เครื่องอิงก์เจ็ตสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งเป็นเครื่องในระดับล่างราคาไม่สูงจึงทำให้มูลค่าตลาดมีการเติบโตที่ลดลง โดยมีผู้ผลิตรายหลักคือ เอชพี, แคนนอน และเอปสัน

ขณะที่ตลาดซอฟต์แวร์และเซอร์วิส ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต แม้ว่าปี 2545 ที่ผ่านมาตลาดซอฟต์แวร์จะมีมูลค่าเพียง 6,675.75 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าตลาดลดลงจากปี 2544 ประมาณ 0.5% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดซอฟต์แวร์ในปี 2546 จะมีมูลค่า 7,654 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 14% ปัจจัยสนับสนุนจะมาจากหลายส่วน เช่น การปฏิรูประบบราชการเริ่มลงตัว กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมีการเติบโต ขณะที่หน่วยงานราชการก็ให้การสนับสนุนนำซอฟต์แวร์เข้าไปใช้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างจริงจัง

สำหรับตลาดเซอร์วิสที่จะมีการเติบโตสูงสุดคือตลาดอิมพลีเมนต์และเมนเทนแนนซ์ โดยไอดีซีระบุว่าในปี 2546 ยังไม่ใช่โอกาสทองของธุรกิจเอาต์ซอร์ซิ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยังไม่กล้าลงทุนในส่วนนี้ รวมทั้งยังไม่เกิดรับรู้ และเข้าใจความหมายของการเอาต์ซอร์ซอย่างแท้จริง คาดว่าปี 2547 หรือ 2548 จึงจะเป็นโอกาสอย่างแท้จริงของของธุรกิจเอาต์ซอร์ซิ่ง

ไอดีซีสรุปว่า ปี 2546 กลุ่มผู้บริโภคที่จะมีการใช้จ่ายด้านไอทีมากจะเป็นหน่วยงานราชการ, องค์กรขนาดใหญ่ และตลาดเอสเอ็มอีตามลำดับ โดยตลาดซอฟต์แวร์ และเซอร์วิสจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงเป็นพิเศษ ขณะที่ธุรกิจฮาร์ดแวร์จะมีกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.