'ไอซีที' ชูธงแก้กม.โทรคมนาคม ลดอำนาจกทช.-ออกไลเซนส์ใหม่
'หมอเลี้ยบ' ชงเรื่องเสนอรัฐบาลแก้
'กฎหมายโทรคมนาคม' ผ่องถ่ายอำนาจให้
'ไอซีที' มีสิทธิอนุมัติไลเซนส์ใหม่
พร้อมถ่วงดุล 7 อรหันต์ ระบุแจ้งเกิด 'กทช.'
ล่าช้าฉุดรั้งความเจริญ แถมอำนาจล้นฟ้าที่สุดในโลก ทั้งจ้องตรวจสอบโปรเจ็กต์ฮัลโหลเคลื่อนที่
'ซีดีเอ็มเอ'
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) เปิดเผย 'ประชาชาติธุรกิจ'
ว่า ภารกิจแรกที่กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการโดยเร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2546 นี้ คือการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เนื่องจาก กม.มอบอำนาจให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กทช.) มากเกินไป และไม่มีกระบวนการใดๆ
สามารถถอดถอน กทช. เพราะกำหนดไว้เพียงให้กทช.พ้นสภาพเมื่อตาย ลาออก หรือถอดถอนตามบทบัญญัติเรื่องการประพฤติมิชอบเท่านั้น
ซึ่งหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายหรือแนวทางของกทช.ก็ไม่สามารถยื่นเรื่องสู่ศาลปกครองได้
เรียกว่าอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี เพราะในกรณีของนายกฯ ส.ส.สามารถเข้าชื่อกัน 200
คนเพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ในกรณีของกทช.หากพิจารณาตามข้อกฎหมายไม่สามารถทำได้
และเนื่องจากการดำเนินการจัดตั้ง กทช.มีความล่าช้ามาก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย
ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขข้อห้ามในบทเฉพาะกาล เพื่อให้กระทรวง ไอซีทีเข้าไปรับผิดชอบหน้าที่บางอย่างแทน
กทช. เช่นเรื่องการออกใบอนุญาตใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องคลื่นความถี่
แต่ต้องการเกี่ยวข้องเฉพาะการออกใบอนุญาตใหม่ และการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมเท่านั้น เช่น
บริการอินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์พื้นฐาน เป็นต้น เพราะหากมีผู้ให้บริการมากขึ้นจะทำให้การให้บริการทั่วถึงขึ้นและมีราคาถูกลง
น.พ.สุรพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเรื่องอำนาจล้นฟ้าของ กทช.แบบไม่มีใครถอดถอนได้ ทำให้กระบวนการคัดสรรกทช.มีการตรวจสอบและแย่งชิงกันมาก
แต่ถ้ามีการแก้กฎหมายถ่วงดุลอำนาจ กทช. ให้สามารถถอดถอนได้ก็เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการคัดสรรเดินหน้าไปได้
เพราะถ้าเลือกคนผิดเข้าไปเป็น กทช. ประเทศก็ไม่ต้องเสียโอกาสไปถึง
6 ปี เพราะให้ประชาชนถอดถอนได้ 'ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่
กทช.มีอำนาจล้นฟ้าเหมือนเมืองไทย ผมถึงเรียก กทช.ทั้ง 7 คน ว่า 7 เซียน ก็ขนาดเอฟซีซี
(ชื่อเรียก กทช.ในประเทศอเมริกา)
อำนาจยังไม่มากเท่านี้ เราจึงคิดว่าควรแก้ กม.เพื่อถ่วงดุลอำนาจการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม
ไม่ใช่ถอดถอนไม่ได้แม้จะพบว่าใช้นโยบายไปในทางไม่เหมาะสม และแก้ไข กม.เพื่อเปิดโอกาสให้ไอซีทีเข้าไปทำหน้าที่แทน กทช.ในระหว่างที่ยังจัดตั้งไม่เสร็จด้วย
เราจะรีบเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไข กฎหมายโดยเร็วที่สุด'
น.พ.สุรพงษ์ยังกล่าวถึงโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ว่า ตนต้องการให้ กสท.ส่งผู้บริหารเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารในบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส
มัลติมีเดีย จำกัด ตัวแทนทางการตลาดบริการซีดีเอ็มเอในกรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง เพราะเห็นว่า กสท.ควรเข้าไปมีส่วนในงานด้านปฏิบัติการเช่นเดียวกับที่
ทศทฯเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการในกิจการร่วมค้า 'ไทยโมบาย'
ซึ่งตนได้พูดเรื่องนี้กับผู้บริหาร กสท. ไปแล้ว
2 ครั้งแต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้าแต่อย่างใด 'ผมพูด 2 รอบแล้วว่าอยากให้ กสท.ส่งคนไปนั่งที่ฮัทชิสัน แต่ก็ยังไม่มีแอ็กชั่นอะไรกลับมา ถ้าไม่ติดว่า กสท.จะแปรสภาพองค์กรแยกเป็น 2 บริษัท
และตั้งบอร์ดใหม่ก็คงเปลี่ยนบอร์ด กสท.เช่นเดียวกับที่เปลี่ยนบอร์ด
ทศทฯไปแล้วจะปรับใหญ่อยู่แล้วก็เลยไม่อยากปรับเล็กให้วุ่นวาย ส่วนซีดีเอ็มเอภูมิภาคที่ประมูลกันอยู่ก็กำชับว่าให้ดำเนินการอย่างโปร่งใสและรอบคอบ
ปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดจากการตัดสินใจจะต้องมีผู้รับผิดชอบ'
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2546
|