กระทรวงไอซีทีสานต่อความร่วมมืออินเดีย ต้นแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ - บุคลากรไอที - เอาท์ซอร์สบริการ
กระทรวงไอซีทีมั่นใจต้นแบบอินเดีย
ช่วยหนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สานความร่วมมือพัฒนาบุคลากรไอที ตลอดจนการเอาท์ซอร์สบริการประชาชนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ
โดยร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันเกิดจุดคีออสบริการประชาชนภายในปี 2546
น.พ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังการเยือนอินเดียสัปดาห์ที่ผ่านมา
(22-23) ว่า ได้เดินทางไปยังเมืองบังกาลอว์ และไฮเดอราบัด ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และไอทีที่สำคัญของอินเดีย
เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านไอซีที จากเดิม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเมื่อปี
2544 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งหนึ่งในความร่วมมือเป็นเรื่องด้านการส่งเสริมไอซีที
"การเดินทางไปครั้งนี้ได้เจรจากันในเรื่องการพัฒนากำลังคน ระหว่างสถาบันการศึกษาของไทย
กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของอินเดีย เพื่อถ่ายทอดพัฒนาความรู้
ความชำนาญให้กับนักศึกษาไทย ซึ่งสถาบันที่จะเลือกเข้าร่วมโครงการ เช่น
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ"
น.พ. สุรพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้สิ่งที่กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น
จากการไปศึกษาตัวอย่างการให้บริการในประเทศอินเดีย คือเรื่องการเอาท์ซอร์สการบริการประชาชนกับเอกชน
ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งกับประชาชน ที่ได้รับความสะดวกจากบริการของรัฐ
ขณะเดียวกันรัฐก็ประหยัดบุคลากร และเวลาการดำเนินการ "ที่ได้ไปเห็นนั้น
รัฐบาลอินเดียมีรูปแบบการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเรียกว่า E-seva
เป็นบริการรูปแบบ One Stop Service ให้บริการประชาชนในเรื่องต่างๆ
เช่น การจ่ายค่าสาธารณูปโภค จ่ายภาษี มีจุดให้บริการลักษณะคีออสกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเปิดนำร่องปีแรก 26-28 แห่ง
ในลักษณะรัฐบาลอินเดียเอาท์ซอร์สให้เอกชน ซึ่งผ่านการประมูลแข่งขันเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการวางโครงข่าย
ส่วนรัฐเป็นผู้กำหนดจุดการให้บริการ" น.พ.สุรพงษ์ อธิบาย
พร้อมทั้งกล่าวว่า ส่วนการดำเนินการของรัฐบาลไทยจะให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเสนอเข้ามาแข่งขันให้เร็วที่สุด
โดยรัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการติดตั้งจุดให้บริการประชาชนเช่นเดียวกับประเทศอินเดียได้ภายในปี 2546
ซึ่งจะร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน
เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้บริการประชาชนยังจุดบริการ หรือคีออส เนื่องจากบริการที่ควรจะเริ่มได้ก่อนอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเหล่านั้น
เช่น การเสียภาษี แจ้งเกิด ย้ายที่อยู่ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม ทั้งนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่ประสานงานได้แก่
คณะทำงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คณะศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มโอซี) ซึ่งมีโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลของทุกกระทรวง
ทบวง กรม
โทรคมนาคมก้าวหน้า
น.พ.สุรพงษ์
กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ด้านโทรคมนาคมของอินเดียก็ก้าวหน้ามาก จากที่ได้ปฏิรูประบบโทรคมนาคมมาราว
5 ปี จึงควรศึกษาเป็นแบบอย่าง ซึ่งรัฐบาลอินเดียให้สิทธิเอกชนทำโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นรายได้มาส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ส่วนด้านบริการอินเทอร์เน็ต ก็มีหน่วยงานหลายแห่งรองรับการให้บริการประชาชน ขณะประเทศไทยมีหน่วยงานเดียวคือ
การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เท่านั้น
ซึ่งต่อไประบบโทรคมนาคมของไทยจะต้องปฏิรูป เพื่อให้เอกชนแข่งขันกัน นำไปสู่การบริการประชาชนอย่างทั่วถึง
รวดเร็ว ในราคาไม่แพง แต่ขั้นตอนต่างๆ ยังดำเนินการไม่ได้ ด้วย กทช.ยังไม่เกิด จึงต้องแก้ไขปัญหาทีละเรื่องให้แล้วเสร็จ เช่น ภาษีสรรพสามิต
กิจการโทรคมนาคม เรื่องอินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การแปรสัญญากิจการโทรคมนาคมในที่สุด
รอลงรายละเอียด
ด้านคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
ปลัดกระทรวงเดียวกัน กล่าวว่า ได้เจรจากับสถานทูตอินเดียเรื่องการจัดทำรายละเอียดของข้อตกลงที่รัฐบาลทั้ง
2 ประเทศทำร่วมกัน
โดยจะกำหนดจุดที่ต้องพัฒนากันอย่างชัดเจน เช่น การพัฒนาการศึกษา เรื่องบริการของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ว่าจะดำเนินการเช่นไร ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร จะต้องดึงผู้เชี่ยวชาญจากอินเดียมาถ่ายทอดความรู้
ทั้งนี้ต้องมีสิทธิพิเศษจูงใจผู้เชี่ยวชาญให้เข้าไทยด้วย จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ
เช่น เรื่องละเว้นภาษีผู้เชี่ยวชาญ แต่การดำเนินการจะอยู่ภายใต้การจัดตั้ง SIPB
และ SIPA ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการจัดตั้ง SIPB
ให้เร็วที่สุด เพื่อจัดตั้ง SIPA ให้เสร็จเป็นองค์กรมหาชนภายในมีนาคมนี้
ด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท
ส่วนการเอาท์ซอร์สเพื่อบริการประชาชนนั้นต้องจัดทำข้อมูลพื้นฐานให้มีมาตรฐานของข้อมูลอย่างเดียวกัน
จึงจะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ ซึ่งเป็นแผนงานที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ภายในความรับผิดชอบของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และคณะกรรมการดำเนินการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
ที่มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คุณหญิงทิพาวดี เป็นเลขาธิการ
และต้องประชุมร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการงานทะเบียนแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
เป็นประธานเพื่อให้การบริการประชาชนดำเนินไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2546
|