ไอซีทีหนุนภูเก็ตนำร่อง "สมาร์ตการ์ด"
"
"ไอซีที" กระตุ้นเทคโนโลยีบรอดแบนด์
ชู "ภูเก็ต" นำร่องให้บริการบรอดแบนด์ทั่วทั้งเกาะภายใน
1 ปี พร้อมชิมลางเปิดทดลองให้บริการบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนขยายไปเชียงใหม่-ขอนแก่น
นายแพทย์สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายที่จะใช้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการนำโครงข่ายเทคโนโลยี
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ "บรอดแบนด์" มาให้บริการอย่างทั่วถึงเป็นแห่งแรกภายในระยะเวลา 1
ปีนับจากนี้ และจะขยายให้บริการไปยังเชียงใหม่และขอนแก่น ซึ่งสอดรับกับนโยบายกระทรวงที่ต้องการพัฒนาให้ทั้ง
3 จังหวัดเป็นเมืองไอซีที (ICT city) โดยเบื้องต้นภาครัฐจะให้การสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน
และสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านไอทีต่างๆ ที่จำเป็นก่อนพัฒนารูปแบบการให้บริการไปสู่นโยบาย
5 อีของรัฐบาล คือ อีโซไซตี้, อีเลิร์นนิ่ง,
อีซิติเซ่น, อีเอดูเคชั่น และอีคอมเมิร์ซ เป็นลำดับต่อไป
โครงสร้างพื้นฐานของ "ไอซีที ซิตี้"
นั้น จะต้องมีความพร้อมทางด้านโครงข่ายระบบโทรคมนาคม ทั้งด้านเสียง (voice)
และบริการข้อมูล (data) และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์
ที่มีความเร็วสูงในการรับ-ส่งข้อมูลตั้งแต่ 256 Kbps ขึ้นไป โดยเบื้องต้นจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่นจะให้บริการได้เฉพาะในเขตเทศบาลก่อน
ส่วนภูเก็ตจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ ด้วยการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก
ระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ลงทุนด้านเน็ตเวิร์กไปแล้วก่อนหน้านี้
นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อพัฒนาโครงข่ายความเร็วสูงเสร็จแล้ว จะต้องดำเนินการเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อให้บริการในลักษณะ
"super hi-way" และที่สำคัญต้องมีราคาถูกลง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโน
โลยีได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (Wi-Fi) ซึ่งบางประเทศในยุโรปคิดอัตราค่าบริการดังกล่าวเฉลี่ย 15 ยูโร หรือประมาณ 750 บาท/เดือน
เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ พร้อมด้วยแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่หลากหลาย
จากผู้ให้บริการไม่ใช่แค่เฉพาะเกมออนไลน์เท่านั้น
นอกจากนี้ กระทรวงมีนโยบายที่ให้ประชากรใน "ไอซีที ซิตี้" เป็นกลุ่มแรกที่จะได้ใช้
"สมาร์ตการ์ด" (smart card) หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์
ที่รวบรวม-จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับเจ้าของไว้บนบัตรเดียว
เพื่อประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมในลักษณะ "อีเซอร์วิส"
หรือการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งโครงการนี้ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(ครม.) แล้ว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนหน้า
และภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มทดลองให้บริการกับประชาชนบางกลุ่ม
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2546
|