ICT แบ่งเค้กโปรเจ็กต์บรอดแบนด์ ดึง 4 ยักษ์สื่อสารผนึกทศทฯบุก
ทศทฯเดินเกมรุกขยายบริการบรอดแบนด์ให้ครบ 1 ล้านเลขหมายตามนโยบาย
"หมอเลี้ยบ" ซุ่มเจรจาดึง 4 บริษัทยักษ์ยูคอม-สามารถ-เลนโซ่
และเอดีซี ดาต้าเน็ทในเครือชินคอร์ปเข้าร่วมแจมจัดสรรโควตาการลงทุนและทำตลาดรายละ
200,000 เลขหมาย เตรียมเซ็นเอ็มโอยูเร็วๆ นี้ "เอดีซี" รับลูกเตรียมทุ่มงบฯ 1,000 ล้านบาทขยายเครือข่ายรองรับการทำตลาดเต็มสูบ
นายแพทย์สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการขยายจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์)
ให้ถึง 1
ล้านรายในปีนี้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แน่นอน เพราะขณะนี้ทาง ทศทฯได้มีการหารือกับบริษัทเอกชน
4 รายเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนและทำตลาดบรอดแบนด์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มยูคอม,
สามารถ (ของตระกูลวิไลลักษณ์), เอดีซี ดาต้าเน็ทในเครือชินคอร์ป และเลนโซ่ ดาต้าคอม แนวทางการดำเนินการจะเป็นการจัดสรรโควตาให้เอกชนรายละ
200,000 เลขหมาย เมื่อรวมกับส่วนของ ทศทฯก็จะครบ 1 ล้านเลขหมายพอดี ผลตอบแทนที่ทศทฯ จะได้รับก็คือ
ส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัททั้ง 4 แห่ง เนื่องจากทั้ง 4 บริษัทเป็นบริษัทร่วมทุนกับ ทศทฯในสัดส่วน 51/49
ตามลำดับอยู่แล้ว นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 4
บริษัทจะเข้ามาช่วย ทศทฯในการทำตลาดซึ่งอาจจะมีการแบ่งพื้นที่การให้บริการบ้าง แต่ก็คงต้องเปิดให้มีการแข่งขันกันได้เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดอย่างเต็มที่
ด้านนางอภิวรรณ สายประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์
ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิว นิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือชินคอร์ป กล่าวกับ "ประชา ชาติธุรกิจ" ว่า รูปแบบของความร่วมมือกับ
ทศทฯในการขยายจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูงในครั้งนี้จะเป็นการร่วมขยายโครงข่ายการให้บริการและการทำตลาด
โดยบริษัทได้จัดสรรงบประมาณในการขยายโครงข่ายเอาไว้ราว 1,000
ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายจุดบริการให้ได้ 200,000
พอร์ตตามโควตาที่ได้รับมอบหมาย จากปัจจุบันที่มีจุดให้บริการอยู่ราว 10,000 พอร์ต โดยจะใช้โครงข่ายแบ็กโบนของ ทศทฯเป็นหลัก ส่วนในพื้นที่ใดที่ยังไม่มีโครงข่ายแบ็กโบนของ
ทศทฯบริษัทจะใช้วิธีเช่าจากผู้ให้บริการรายอื่นเพื่อขยายการให้บริการ
สำหรับอัตราค่าบริการนั้นจะต้องอยู่ในเพดานที่ทางกระทรวงไอซีทีกำหนด
โดยคาดว่าจะเป็นอัตราเดียวกันกับที่ ทศทฯได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเอกชนทั้ง
4 รายที่เข้าร่วมโครงการควรจะต้องคิดค่าบริการในอัตราเดียวกัน เนื่องจากหากคิดอัตราค่าบริการต่างกันอาจจะก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ
นางอภิวรรณกล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัทคงจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงไอซีทีและบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมอีกครั้งถึงเรื่องพื้นที่การให้บริการว่าจะมีการแบ่งพื้นที่กันอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน
ซึ่งน่าจะใช้การพิจารณาจากศักยภาพของแต่ละบริษัทว่ามีจุดแข็งในการขยายโครงข่ายและทำตลาดในพื้นที่ใดบ้าง
ใครมีจุดแข็งอยู่ในพื้นที่ใดอยู่แล้วก็ให้ดำเนินการในพื้นที่นั้นต่อไป
แหล่งข่าวจากบริษัทในกลุ่มยูคอมกล่าวว่า การเจรจาของ
ทศทฯกับเอกชนทั้ง 4 รายยังไม่เรียบร้อย
คาดว่าจะมีข้อสรุปชัดเจนและเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันในเร็วๆ นี้ การแบ่งพื้นที่ให้บริการเป็นเรื่องค่อนข้างยากจะทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงเพราะทุกรายก็ต้อง
การลงทุนในพื้นที่ที่ลูกค้ามีการใช้งานสูง เชื่อว่าในที่สุดน่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนแข่งขันกันเต็มที่
ให้แต่ละรายลงทุนและทำตลาดในพื้นที่แต่ละจุดได้เต็มที่
สำหรับอัตราค่าบริการนั้นทาง ไอซีทีจะเป็นผู้กำหนดเพดานราคาให้กับเอกชนโดยเปิดโอกาสให้แข่งขันด้านราคาเพื่อกระตุ้นการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น
เอกชนทั้ง 4
รายจะเข้ามาช่วยขยายการให้บริการบรอดแบนด์บนเลขหมายของ ทศทฯเพื่อ ให้ครอบคลุมการให้บริการทั่วประเทศ
เนื่องจากปัจจุบัน ทศทฯมีพื้นที่ให้บริการบรอดแบนด์เฉพาะในกรุงเทพฯเพียงไม่กี่ชุมสาย
ซึ่งในการทำตลาดนั้นบริษัทจะต้องร่วมมือกับไอเอสพีเพื่อเจาะเข้าไปยังกลุ่มผู้บริโภค
ทั้งนี้ ในส่วนของยูคอมนั้นจะดำเนินการภายใต้บริษัท ยูไนเต็ด บรอดแบนด์ เทคโนโลยี
จำกัด (UBT) ซึ่งในส่วนของยูคอมอาจจะมีข้อได้เปรียบในแง่การลงทุน
เพราะมีบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (ยูไอเอช)
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีอินฟราสตรักเจอร์อยู่พร้อม เป็นโครงข่ายสื่อสัญญาณความเร็วสูงผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทยูคอมได้กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ว่า กลุ่มยูคอมได้มีการปรับกระบวนการทำงานระหว่างบริษัทในเครือให้มีประสานความร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแนวคิดที่จะมีการรวมบริษัทยูบีที และยูไอเอชซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน
แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยูไอเอชได้รับสิทธิดำเนินการจากกสทฯ ขณะที่ยูบีทีเป็นบริษัทร่วมทุนกับทศทฯ
แต่แนวทางในการดำเนินงานที่มุ่งไปสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงทั่วประเทศยังมีอยู่
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2547
|