ไอซีทีมุ่งสร้างความคล่องตัวรับยุคเปลี่ยนเร็ว
เน้นแผนงานของทุกโครงการต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน
หมอเลี้ยบประกาศนโยบายสร้างกระทรวงไอซีที
เป็นกระทรวงแห่งความคล่องแคล่ว (Adaptive Ministry) ขีดเส้นอีก
2 เดือน ปรับกระบวนยุทธ์เสร็จ เน้นบริหารงานเชิงราบ ลดลำดับขั้นการทำงานให้น้อยลง
เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน
น.พ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงจะปรับรูปแบบการบริหารงานให้เป็นกระทรวงแห่งความคล่องแคล่ว
โดยจะบริหารงานเชิงราบมากขึ้น ลดขั้นตอนระหว่างฝ่ายปฏิบัติการกับผู้บังคับบัญชาให้น้อยลง
เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารงานรูปแบบใหม่เสร็จใน
2 เดือน
นอกจากนี้แผนงานแต่ละโครงการต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน
เพื่อขับเคลื่อนงานต่อเนื่อง เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซิป้า) ผู้บริหารที่จะรับผิดชอบงานต้องทำงานได้เต็มเวลา เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตเต็มที่
"สาเหตุที่ต้องปรับตัวให้เป็นอะแดพทีฟ มินิสตี้ เพราะเรากำลังก้าวสู่ยุคที่มีการพลวัตด้านต่างๆ
มากขึ้น ฉะนั้นกระทรวงจะนิ่งนอนใจบริหารงานแบบเดิมไม่ได้
ต้องปรับรูปแบบบริหารจัดการใหม่ ลำดับขั้นน้อย ทำงานเจาะเป็นเรื่องๆ
รับผิดชอบงานของตัวเอง เช่น เจ้าภาพอาจเป็นเอกชน และประสานมาที่กระทรวง
ด้วยระบบประสาทดิจิทัล รวบรวมข้อมูล ซึ่งต่อไปจะขยายผลไปถึงการบริหารงานด้านโทรคมนาคม
ไม่จำกัดเฉพาะไอทีเท่านั้น" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
ไม่แข่งซอฟต์แวร์อินเดีย
ส่วนการสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยแข่งขันกับตลาดโลกได้มี
2 ด้านหลัก
ได้แก่ ลักษณะงาน ต้องพัฒนางานด้านมัลติมีเดีย แอนิเมชั่น เทคนิคสเปเชียล เอฟเฟคท์
นำเสนอในตลาดไทย และส่งออกสู่ตลาดโลก เพราะคนไทยมีความชำนาญด้านศิลปะ ไม่พัฒนาซอฟต์แวร์แข่งกับตลาดอินเดีย
หรือไอร์แลนด์ เพราะประเทศเหล่านั้นมีทักษะความพร้อมทุกด้านมากกว่า เช่น เงินทุน ทั้งควรเน้นตลาดบริการไอทีมากขึ้น
เพราะคนไทยมีทักษะงานบริการสูง การพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับงานที่ชำนาญจะทำได้ดี
เช่น ซอฟต์แวร์ร้านอาหาร
โอเพ่นซอร์สไร้เจ้าภาพ
"รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเทคโนโลยีในแผนงานต่างๆ
แต่ต้องมีเจ้าภาพชัดเจน นอกเหนือจากมีแผนงาน และยุทธศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการสนับสนุนโอเพ่นซอร์ส
ที่กระทรวงพร้อมสนับสนุน แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานของคณะทำงานโอเพ่นซอร์ส
ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพดำเนินงานต่อเนื่อง" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว ส่วนแผนงานซอฟต์แวร์เอื้ออาทร
ขณะนี้สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กำลังรวบรวมข้อมูล รับสมัครบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการและจะนำเสนอในรายละเอียดกับกระทรวงในเร็วๆ
นี้
"ขณะนี้มีบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลก 2-3
รายเข้ามาคุยรูปแบบการสนับสนุนกับกระทรวงไอซีทีแล้ว
ซึ่งผู้เข้ามาต้องสร้างคน สร้างงานให้เกิดขึ้นด้วย จึงต้องคุยในลักษณะเป็นคณะทำงาน
มองภาพรวมว่า ต้องพัฒนาอะไร ไม่ใช่เลือกว่าจะทำด้านใด เหมือนการแบ่งเค้ก"
น.พ.สุรพงษ์ กล่าว ทั้งนี้การจัดทำซอฟต์แวร์เอื้ออาทร
มุ่งลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกค้าองค์กร ต้องเริ่มจากเอสเอ็มอีที่มีฐานกว้าง เช่น ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร
ตั้งคณะทำงานพิจารณาซอฟต์แวร์ 3 ด้าน
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ นายกสมาคมเอทีเอสไอ
และประธานคณะทำงานโอเพ่นซอร์ส กล่าวว่า เอทีเอสไอ ตั้งคณะกรรมการ 3
ชุดพิจารณาการจัดทำรายละเอียดรูปแบบซอฟต์แวร์ 3 ด้าน ได้แก่
ซอฟต์แวร์แพ็คเกจขนาดเล็กเพื่อใช้งานทั่วไปสำหรับเอสเอ็มอี ซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา
ซอฟต์แวร์บันเทิงและเกม, ซอฟต์แวร์แพ็คเกจสำหรับองค์กร,
ซอฟต์แวร์ที่ต้องพัฒนาขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนงานโอเพ่นซอร์ส
จะสรุปแผนงานเบื้องต้นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีภายใน 2 สัปดาห์ โดยมุ่งเน้น 3 เรื่อง ได้แก่
สร้างมาตรฐานภาษาไทย และติดตั้งเข้าในระบบปฏิบัติการ และกลุ่มธุรกิจที่จะมุ่งสร้างฐานการใช้เน้นองค์กรขนาดกลางและเล็ก
แต่ไม่ทราบว่า ใครเป็นเจ้าภาพ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2546
|