ร่างแผนแม่บท ICT ชู 8 ยุทธศาสตร์หนุนพีซีโลคอลแบรนด์กินแชร์ 80%
เปิดร่างแผนแม่บทไอซีทีแห่งชาติ
เสนอ 8 ยุทธศาสตร์หลัก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พีซีประกอบในประเทศถึง 80% ในปี 2547 รวมถึงการผลักดันการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศ
30% เพื่อทดแทนการนำเข้า พร้อมเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการวิจัยพัฒนาฟรีแวร์อย่างจริงจัง
เตรียมเสนอบอร์ดเอ็นไอทีซี 2 พ.ค.นี้
รายงานข่าวจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย
พ.ศ. 2545-2549 ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) รวมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานขึ้น 8 ด้าน เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หรือไอซีทีมาใช้ประโยชน์ในการสร้างศักยภาพในการพึ่งพาอาศัยตนเอง และเพื่อสามารถแข่งขันในโลกสากลได้
ยุทธศาสตร์หลัก 8 ข้อประกอบด้วย
1.การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ
เช่น การให้ผู้ใช้เครือข่ายทั่วไประดับจังหวัดสามารถเข้าถึงโครงข่ายด้วยความเร็ว 2
เมกะบิตต่อวินาทีภายในปี 2549
2.การส่งเสริมให้สาธารณชนมีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของไอซีที
โดยกำหนดว่าภายในปี 2549 แรงงาน (workforce) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ต้องสามารถเข้าถึงไอซีทีได้
และแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้
3.การปฏิรูปแนวทางการวิจัยและพัฒนาไอซีที กำหนดว่าประเทศจะต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยด้านไอซีทีทั้งของภาครัฐและเอกชนไม่ต่ำกว่า
3% ของมูลค่าอุตสาหกรรมไอซีที
และระบุว่าจะต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี)
ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 รวมทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการใช้ในประเทศภายในปี 2547 โดยให้รัฐสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาการทำฟรีแวร์ในลักษณะโอเพ่นซอร์ซเพื่อเป็นฐานให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยนำไปศึกษาและพัฒนาต่อ
รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ที่มีศักยภาพ เพื่อผลิตชิ้นส่วนมูลค่าสูงทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และ อปุกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมบางประเภท
4.การพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โดยให้รัฐเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
(SIPA) เพื่อผลักดันให้การลงทุนและการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตขึ้น
โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2549 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจะมีขนาด 9 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าซอฟต์แวร์เพื่อการส่งออกร้อยละ 75 ของมูลค่ารวม 5.ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมใช้ไอซีที
โดยกำหนดเป้าหมายว่าปี 2549 ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย จะสามารถใช้ไอซีทีในการบริหารจัดการภายใน
6.การนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์ในการบริหารและบริการของภาครัฐ โดยกำหนดให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั่วประเทศ
และบริการพื้นฐานของรัฐไม่น้อยกว่า 90%
สามารถทำได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ปีละไม่น้อยกว่า
100,000 ล้านบาท
7.การใช้ไอซีทีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพของสังคมไทย
ส่งเสริมการนำไอซีทีไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีประมาณ
600,000 คน หรือร้อยละ 1
ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2549 และเพิ่มมูลค่าตลาดของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่าร้อยละ
20 ต่อปี โดยเร่งผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในภาคเศรษฐกิจ
และ 8.การบริหารจัดการและการลงทุนไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน โดยการเพิ่มการประสานงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐให้เอื้อต่อการใช้และการลงทุนไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น กำหนดว่าในภายในปี 2549 ให้ภาครัฐมีซอฟต์แวร์ระบบบริหารขั้นพื้นฐาน
ได้แก่ ระบบสารบรรณ, ระบบบริหารบุคคล, งบประมาณ,
การเงิน, บัญชี และพัสดุ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2545
|