6 เดือนไอซีทีที่ไอเดียพุ่งกระฉูด
ผลงานที่ผุดขึ้นมากมายของกระทรวงน้องใหม่ไอซีที ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์ไอที
ตลอดจนโทรคมนาคม ทั้งการแปรสัญญาสัมปทานสื่อสาร ไอซีทีซิตี้ 3 จังหวัด คอมพิวเตอร์ราคาประหยัด 1 ล้านเครื่อง
และอื่นๆ หากหลายงานยังเป็นที่สงสัย และต้องติดตามผลต่อเนื่องถึงความจริงใจต่อการออกโครงการเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
หรือเอื้อประโยชน์ใคร
เริ่มจากการแปรสัญญาสัมปทานสื่อสาร
ทิ้งคำถามคาใจหลายๆ คนว่า เป็นการประสานประโยชน์ร่วมระหว่างกระทรวงไอซีที ภาคเอกชน
และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย โดยชูแนวคิดแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต ตาม
พ.ร.ก.พิกัดภาษีสรรพสามิต แต่เรื่องราวยังรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงความชอบธรรมของการเร่งออกกฎหมายดังกล่าวในวันที่
1 พ.ค.นี้ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ
มาตรา 218 ให้อำนาจรัฐออก พ.ร.ก.ได้ ภายใต้สถานการณ์ ความจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ,
ความปลอดภัยสาธารณะ, และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
โดยผลงานดังกล่าวของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ได้รับคัดค้านจากนักวิชาการ 384 คนทั่วประเทศ ที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมและขัดหลักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย
ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น
ทศท ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ให้แก่กระทรวงการคลังไปก่อน เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
จึงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น ทศท ต้องจ่ายภาษี
โดยหักจากส่วนแบ่งรายได้ที่รับจากเอกชน สำหรับโทรศัพท์พื้นฐาน 2% และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10%
ส่วนแนวทางแยกรายได้ส่วนที่เหลือนั้น กระทรวงมอบหมายให้ ทศท เจรจากับคู่สัญญาเอง อย่างไรก็ตาม
กระทั่งวันนี้ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เจ้าของแนวคิดยังไม่สามารถ
หาคำอธิบายให้สังคมได้ว่าทำไมความคิดของไอซีที จึงไปเหมือนกับผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมเอกชนได้
ฉะนั้นจึงยังต้องติดตามนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด เพราะการแปรสัญญาร่วมการงานเกี่ยวพันกับธุรกิจหลายแสนล้านบาท
อันเป็นฐานธุรกิจสำคัญของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้
ดันไอซีที ซิตี้ 3 จังหวัดหัวเมือง
นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จัดตั้งไอซีที ซิตี้ 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
(SIPB) ให้เสร็จในเดือนพฤษภาคม
เพื่อจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภูมิภาค (SIPA) ให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2546 ทั้งนี้ได้มอบหมายการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) และบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) ร่วมกันวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน
และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ทั่วจังหวัดภูเก็ต สำหรับการติดต่อสื่อสารยังต่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้นักลงทุน
พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการติดต่อการค้ากับต่างประเทศได้อย่างคล่องตัว
สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทย
ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มอี-โซไซตี้ ที่มี น.พ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ เป็นประธานคณะทำงานฯ
มีความพยายามผลักดันให้ออกกฎหมายควบคุมเกมออนไลน์ และแยกร้านอินเทอร์เน็ตสาธารณะออกจากร้านเกม
เนื่องจากการร้องเรียนของผู้ปกครอง ที่เห็นว่าเยาวชนให้ความสนใจและคลั่งไคล้
รวมถึงการครอบคลุมเนื้อหาของเกม เพื่อลดความรุนแรงลง
โดยอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก
"ร้านอินเทอร์เน็ตควรจะเป็นแหล่งเพื่อการเรียนรู้
ดังนั้นจึงควรจะมีกฎหมายที่ควบคุมเนื้อหา เพื่อไม่ให้มีความรุนแรง แต่เมื่อผู้ประกอบการคัดค้านในเรื่องนี้
คงต้องพิจารณากฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้แทน" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
นำร่องคอมพิวเตอร์ไอซีทีล้านเครื่อง
โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที
ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายคอมพิวเตอร์ราคาถูกจำนวน 1 ล้านเครื่อง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ร่วมกับโครงการเดิมที่ต้องการให้เอกชนผลิตคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด
1 แสนเครื่องแรกออกมาจำหน่ายแก่นักเรียน นักศึกษา
ครูอาจารย์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนกลไกการปฏิรูปการศึกษา โครงการดังกล่าว
ยังมีแววจะส่งผลสะเทือนทั้งในแง่ลบ และแง่บวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์ส
ที่นักพัฒนาโปรแกรมไทยใช้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดขึ้นไปได้ อันเป็นการสร้างตลาดให้กับนักพัฒนาไทยแนวทางหนึ่ง
กระนั้นการออกโครงการนี้มา ผู้ประกอบการสายต่างๆ พากันกังวลว่า จะ "ตัดตอน" ระบบธุรกิจปกติที่เคยทำกันมา รายย่อย
คงหายไปจากตลาด โดยทำให้โครงสร้างตลาดมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ค้าในตลาดจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์
กล่าวว่า โครงการคอมพิวเตอร์ 1 ล้านเครื่องไม่น่าถือเป็นข่าวดี เพราะโดยภาพรวมแล้วจะส่งผลลบมากกว่าผลบวกต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
ถือเป็นการทำลายห่วงโซ่อุตสาหกรรมมีตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ไปจนถึงขั้นการประกอบเป็นเครื่อง
แล้วยังมีผู้ค้าระดับต่างๆ เช่น ดิสทริบิวเตอร์ ดีลเลอร์ ร้านค้าย่อย
ซึ่งอาจเป็นเด็กจบใหม่ที่ประกอบเครื่องขายก็ได้ แต่ไม่เคยมีใครประเมินว่า
ตลอดวงจรมีผู้เกี่ยวข้องปริมาณเท่าไร น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีไม่กระทบตลาดแน่ หากเป็นการกระตุ้นตลาดไอทีให้เติบโตขึ้น
ไม่เพียงตลาดคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่จะกระตุ้นตลาดเกี่ยวเนื่อง เช่น
อุปกรณ์ต่อพ่วงให้เติบโตตามไปด้วย เนื่องจากมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น
การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ มุ่งขยายตลาดต่างประเทศ
หนุนพัฒนาบุคลากรระยะสั้น-ยาว
อีกทั้งกระทรวงไอซีทียังอยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันสื่อประสมแห่งชาติ
เพื่อหนุนสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้ผลิตซอฟต์แวร์มัลติมีเดียเจาะตลาดต่างประเทศ
โดยอาศัยทักษะเชิงศิลปะของคนไทยต่อยอดความรู้ไอที และทำหน้าที่หาตลาดให้กับนักพัฒนาไทย
พร้อมทำหน้าที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์ผลงานให้ด้วย โดยกระทรวงหวังว่า หากดำเนินการสำเร็จจะเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งต่อการสร้างมูลค่าการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ลดต้นทุนการนำเข้าซอฟต์แวร์ และเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับคนไทย ขณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในระยะสั้น
กระทรวงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินและเอกชน จัดฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีทักษะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
โดยตั้งเป้าปี 2549 จะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นในตลาดราว 25,000 คน ตลอดจนนำบุคลากรไอทีจากต่างประเทศเข้ามาแก้ปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมาถ่ายทอดความรู้แก่คนไทย
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขยายมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตถึง 90,000
ล้านบาท ในปี 2549
นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน
โดยร่วมกับสถาบันการเงินและธนาคาร หมายให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ผันตัวเองเป็นประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
พร้อมกับขยายฐานตลาดซอฟต์แวร์ลงไปยังเอสเอ็มอี โดยคิดเป็น 90% ของโครงสร้างธุรกิจทั้งระบบ
สมาร์ทการ์ดไม่คืบ
ด้านโครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด
ที่มีนโยบายจะจัดทำบัตรให้แก่ประชาชนตั้งแต่แรกเกิดนั้น ณ เวลานี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน
จากปัญหาความไม่พร้อมของระบบข้อมูลที่เกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐาน
ที่ต้องมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตรองรับโครงการนี้ ทำให้ต้องเลื่อนระยะเวลาการออกบัตรไปเป็นเดือนธันวาคม
และยังไม่สรุปจังหวัดโครงการนำร่องทดลองใช้บัตร
นอกจากนี้ไอซีทียังมีงานที่ต้องผลักดันคือ
การเป็นเจ้าภาพประสานงานทุกกระทรวงเพื่อเก็บข้อมูลเชื่อมโยงเข้ากับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (Prime
Minister's Operating Center) เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการวางยุทธศาสตร์ของชาติได้อย่างรวดเร็วทันกาล
โดยไอซีทีได้มอบหมายงานให้ พ.ท.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งเข้ามารับงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้
ทำหน้าที่ประสานงานกับทุกกระทรวง พร้อมๆ
กับรับหน้าที่ปรับโครงสร้างสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์สารสนเทศแห่งชาติเก็บข้อมูลทั้งจากรัฐเอกชน
นำมาวิเคราะห์พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีอย่างเร็วที่สุด
ปัญหาหลักอยู่ที่กฎหมาย
ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการไอซีที
กล่าวถึงสภาพปัญหาของไอซีทีว่า ส่วนที่ล่าช้ามักมาจากขั้นตอนการออกกฎหมาย
การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. กิจการโทรคมนาคม ที่รัฐบาลพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมการสรรหา กทช. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการไปเมื่อ 30 ม.ค.46 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน แต่คาดว่าคงจะไม่เป็นไปตามที่กำหนด
โดยคาดว่าคงจัดตั้งคณะกรรมการสรรหา กทช. ได้ประมาณเดือนมิถุนายน
เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบมาก ส่วนถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
ส่วนไอทีมีปัญหาของกฎหมาย 2 ฉบับ ที่มีผลกระทบกับกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังพิจารณา เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมีความเห็นแตกออกเป็น
2 ส่วน โดยส่วนแรกเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ ส่วนที่ 2 เห็นว่าควรจะรวมกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ที่ควรจะนำมารวมในกฎหมายฉบับนี้ "โดยกฎหมายฉบับผมกำลังทำความเข้าใจอยู่
เพราะมีรายละเอียดมากที่ต้องพิจารณา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึง พ.ร.บ.อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ที่ต้องพิจารณาว่ามีความขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่"
น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ (SciTech)
ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2546
|