IBM จูงมือ S/Wเฮาส์ไทยโกอินเตอร์ หนุนสร้างแพ็กเกจพร้อมใช้แข่งตปท.
ไอบีเอ็มชูนโยบายผนึก 30 พันธมิตรซอฟต์แวร์เฮาส์ไทยพัฒนาโซลูชั่นเจาะตลาดเอสเอ็มอี
แข่งขันกับโซลูชั่นจากต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนขยายฐานสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ วางแผนอาศัยฐานธุรกิจไอบีเอ็มจูงมือโกอินเตอร์
นายทรงธรรม เพียรพัฒนวิทย์
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทเน้นให้การสนับสนุนพันธมิตรซอฟต์แวร์เฮาส์ไทย
ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 30 ราย ที่นำมิดเดิลแวร์ของ
ไอบีเอ็มไปใช้ในการพัฒนาเป็นโซลูชั่น เพื่อเจาะตลาดธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายที่จะขยายจำนวนพันธมิตรเพิ่มขึ้นถึง
50 ราย
"มิดเดิลแวร์ของไอบีเอ็ม 4 ตัวหลักที่ซอฟต์แวร์เฮาส์ไทยได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา
ได้แก่ เว็บสเฟียร์, ดีบีทู, โลตัส และ
ทิโวลี่ โดยบริษัทจะให้สนับสนุนฝึกอบรมให้พันธมิตรมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ก่อนที่จะให้ข้อมูลด้านการตลาดและพิจารณาเซ็กเมนต์ตลาดที่เหมาะสม
เพื่อให้เห็นโอกาสทางการตลาดที่พันธมิตรจะเข้าไปบุก โดยพันธมิตรและลูกค้าสามารถเข้ามาทดสอบระบบได้ที่ศูนย์อี-อินฟราสตรักเจอร์ที่อาคารซอฟต์แวร์ปาร์กได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย"
พร้อมกันนี้บริษัทจะสนับสนุนให้พันธมิตรสอบรับใบรับรองจากบริษัท เพื่อได้รับส่วนลดราคาพิเศษในการซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในองค์กรหรือพัฒนาโซลูชั่น
นายทรงธรรมกล่าวเสริมว่า ส่วนใหญ่พันธมิตรของไอบีเอ็มจะเริ่มจากการเป็นลูกค้าของไอบีเอ็ม
โดยนำผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็มไปใช้ในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อใช้งานภายในองค์กรก่อน หลังจากนั้นจึงพัฒนาเป็นธุรกิจ "เราต้องการสนับสนุนการพัฒนาโซลูชั่นของพันธมิตรท้องถิ่นเนื่องจากเป็นโซลูชั่นที่มีราคาถูกกว่าโซลูชั่นจากต่างประเทศ
ถึงแม้ว่าพันธมิตรที่มีอยู่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเน้นตลาดธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แต่เราก็สนับสนุนให้มีการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อรองรับตลาดองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
รวมทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อให้พันธมิตรมีโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยผ่านสาขาของไอบีเอ็มที่มีทั่วโลกด้วย"
ทั้งนี้ พันธมิตรของไอบีเอ็มที่ได้พัฒนาเป็นโซลูชั่นออกมาแล้ว อาทิ
บริษัท ดาต้าแมท จำกัด นำโปรแกรมเว็บสเฟียร์ พัฒนาเป็นโซลูชั่น อี-มาร์เก็ตเพลซ (ตลาดออนไลน์), อี-รีจิสเทรชั่น (ลงทะเบียนออนไลน์) และเอ็นซีซี อี-เอ็กซิบิชั่น (งานแสดงสินค้าออนไลน์)
ขณะที่เมโทรซิสเต็มส์ได้พัฒนา "บลู
มาร์ตินี่" เป็นระบบอี-ซีอาร์เอ็ม
(บริหารความสัมพันธ์ลูกค้า) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต
บริษัทอัลฟ่าได้ใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูหรือระบบบริหารจัดการข้อมูล พัฒนาโซลูชั่น "นาวาสาร" โปรแกรมห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์,
สตรีม ไอที คอนซัลติ้ง พัฒนาระบบบริหารข้อมูล, ฟรีวิลล์ โซลูชั่น พัฒนาระบบรวบรวมการทำงานของฟรอนต์ออฟฟิศ ขณะที่บริษัทกล้วยน้ำไท
เฮลธ์ ซอฟท์แวร์ ก็ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลโรงพยาบาล และไออี-โซลูชั่นเน้นการพัฒนาเว็บเบสสำหรับการแพทย์ เป็นต้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2545
|