ไอบีเอ็มจับมือออกซ์ฟอร์ด พัฒนากริดตรวจมะเร็งทรวงอก
ซานฟรานซิสโก - ไอบีเอ็มประกาศจับมือ
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และรัฐบาลอังกฤษ พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์กริดใช้ตรวจมะเร็งทรวงอก
ชี้เทคนิคมุ่งรวมข้อมูล จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศ
เล็งช่วยลดอัตราการวินิจฉัยโรคผิดพลาด พร้อมหาแนวทางรักษารูปแบบใหม่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทไอบีเอ็ม ประกาศโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
และรัฐบาลอังกฤษ ในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์กริด เพื่อใช้ในการตรวจเช็ค และวินิจฉัยการเกิดมะเร็งทรวงอกในระยะแรกเริ่ม
ตัวแทนโครงการเผยว่า ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า "อีไดมอนด์" (eDiamond)
ซึ่งทีมนักวิจัยจะมุ่งพัฒนาเพื่อช่วยให้แพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ
สามารถเก็บ และแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจเช็คมะเร็งทรวงอกระหว่างกันได้ ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลที่อาศัยมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ คอมพิวเตอร์กริด คือกลุ่มเครื่องแม่ข่ายและคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่
ที่เชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
"เรากำลังดัดแปลงกำลังประมวลผลคอมพิวเตอร์ปริมาณมหาศาลในกริด
เพื่อสร้าง "อัลบั้มรูปดิจิทัล" ขนาดใหญ่ ที่รวบรวมภาพสแกนมะเร็งทรวงอกจำนวนมากเอาไว้ และจะให้บริการแพทย์ได้ทั่วประเทศอังกฤษ"
นายนิโคลัส โดโนฟริโอ รองผู้อำนวยการอาวุโส แผนกเทคโนโลยีและการผลิต
บริษัทไอบีเอ็ม กล่าว
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเผยว่า โครงการอีไดมอนด์ จะมีความสำคัญต่อวงการมะเร็งทรวงอกอย่างมาก
เนื่องจากที่ผ่านมา การอ่านฟิล์มเอกซเรย์มะเร็งทรวงอก หรือแมมโมแกรม มีความผิดพลาดสูง
และส่งผลให้ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทัน ทั้งนี้ แนวคิดในการนำระบบคอมพิวเตอร์กริดมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการค้นคว้าด้านอื่นๆ
เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำทฤษฎีด้านการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เซอร์เวอร์จำนวนนับล้านๆ
เครื่องเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดกำลังประมวลผลอันมหาศาล ที่สามารถนำมาใช้งานได้ตามความต้องการ
ในลักษณะเดียวกับการรวมพลังงานจากน้ำหรือกระแสไฟฟ้า
ไอบีเอ็มและรัฐบาลอังกฤษ
จะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวทั้งหมดราว 6 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้
ไอบีเอ็มจะสนับสนุนเทคโนโลยีในส่วนของเครื่องแม่ข่าย, ระบบจัดเก็บข้อมูล,
สถานีปฏิบัติการ และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์อื่นๆ ส่วนมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
จะเป็นผู้รวบรวมซอฟต์แวร์ตัวกลางเข้าด้วยกัน
ไอบีเอ็มเผยว่า
นอกจากการใช้ประโยชน์ด้านการรวบรวมข้อมูลแล้ว เครือข่ายกริดอีไดมอนด์ จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค
และหาวิธีการรักษารูปแบบใหม่ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยการวิเคราะห์ในเชิงลึก
เพื่อค้นหาอิทธิพลของสภาพแวดล้อม และรูปแบบการดำเนินชีวิต
ที่อาจมีผลกระทบต่อการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2545
|