ไอบีเอ็มอวดเทคโนโลยีเก็บข้อมูลใหม่

นิวยอร์ก - นักวิจัยยักษ์ใหญ่สีฟ้า เผยผลสำเร็จพัฒนา เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลใหม่ ระบุมีบางส่วนคล้ายเครื่องตอกรูในคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า เว้นแต่อุปกรณ์รุ่นใหม่มีขนาดเล็กเท่าโมเลกุล รวมทั้งยังสามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่าเครื่องมือจัดเก็บในพีซีปัจจุบันมากถึง 20 เท่า หรือราว 25 ล้านกระดาษหนังสือเรียน

 

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการซูริค ของบริษัท ไอบีเอ็ม คอร์ป. ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลก ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลรุ่นใหม่ ซึ่งนายปีเตอร์ เวตติเกอร์ หัวหน้าโครงการพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดังกล่าว ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อรหัส "มิลลิพีด" (Millipede)

 

ตัวแทนของบริษัท ไอบีเอ็ม กล่าวว่า ต้นแบบของอุปกรณ์มิลลิพีดดังกล่าว สามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากถึง 20 เท่าของเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย ข้อมูลขนาด 25 ล้านหน้ากระดาษตำราเรียน ทั้งนี้ บริษัท ไอบีเอ็ม ไม่มีแผนผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเทคโนโลยีมิลลิพีด เพื่อใช้งานแทนบัตรหน่วยความจำความเร็วสูงเทคโนโลยีซิลิคอน สำหรับคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายในปลายปี 2548 นี้ "ไอบีเอ็ม วางแผนจะผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวสำหรับคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์พกพา สนองตอบตลาด ที่ต้องการเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลที่จุมากกว่าบัตรหน่วยความจำความเร็วสูง และช่วยประหยัดพลังงานได้ ด้วยขนาดที่เล็กลง และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ" นายเวตติเกอร์กล่าว

 

ตัวแทนของบริษัท ไอบีเอ็ม อธิบายว่า อุปกรณ์มัลลิพีดนี้ สามารถเก็บข้อมูล 1 เทราบิต (ล้านล้านบิตต่อ 1 ตารางนิ้ว) ไว้บนแผ่นฟิล์มพลาสติกโพลิเมอร์ขนาดเล็กได้ หรือเท่ากับรอยกดพิมพ์เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นานามิเตอร์ (หนึ่งในล้านของมิลลิเมตร) อย่างไรก็ดี อุปกรณ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เหมือนบัตรตอกรู ตรงที่สามารถเขียนทับใหม่ได้ ซึ่งนั่นหมายถึง ผู้ใช้สามารถลบและเขียนข้อมูลทับได้หลายครั้ง โดยนายเวตติเกอร์ เผยว่า จากการทดสอบของบริษัทไอบีเอ็ม พบว่าสามารถลบและเขียนซ้ำได้หลายหมื่นครั้ง

 

นอกจากนี้ นายเวตติเกอร์ ยังกล่าวอีกว่า เทคโนโลยีความจำใหม่นี้ มีลักษณะคล้ายกับการแบบกล้องจุลทรรศน์ปรมาณู ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2529 โดยนายเกิร์ด บินนิ่ง ผู้ร่วมออกแบบเทคโนโลยีมิลลิเพด ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในฐานะผู้ร่วมคิดค้นกล้องจุลทรรศน์ดังกล่าว กระนั้น นายเวตติเกอร์ สรุปในตอนท้ายว่า บริษัทไม่มีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อโจมตีข้อจำกัดด้านความหนาแน่นของข้อมูลบนชิพหน่วยความจำความเร็วสูง พร้อมเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ดังกล่าว เหมาะที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับนาฬิกาข้อมือ เนื่องจาก สามารถบรรจุข้อมูลได้ราว 10-15 กิกะไบต์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2545

 

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.