ไอบีเอ็มเผยโฉมเทคโนโลยีแปลภาษาล้ำหน้า
ไอบีเอ็มเผยโครงการพัฒนา "มาสทอร์" ชี้เป็นก้าวใหม่ของซอฟต์แวร์แปลภาษา ช่วยถ่ายทอดความหมายระหว่างภาษาพูดโดยตรง
เน้นประโยชน์ใช้กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน
สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า
บริษัทไอบีเอ็มได้เผยโครงการ พัฒนาซอฟต์แวร์แปลภาษา เวอร์ชั่นทดสอบ
ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารในอีกภาษาได้ โดยไม่ต้องพิมพ์คำลงบนเครื่อง ตัวแทนไอบีเอ็ม
เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ต้นแบบดังกล่าว มีชื่อว่า "มาสตอร์"
(MASTOR-Multilingual Automatic Speech-to-Speech Technology) โดยมีหลักการทำงาน
คือ เมื่อคู่สนทนารายหนึ่งพูดภาษาของตนผ่านไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับเครื่อง ซอฟต์แวร์จะถ่ายทอดคำพูดเหล่านั้นเป็นตัวหนังสือ
ซึ่งจะปรากฏบนจอภาพ จากนั้นจะทำการแปลเป็นข้อความในอีกภาษาหนึ่ง
พร้อมกับถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงพูด ช่วยให้คู่สนทนาที่ใช้ภาษาต่างกัน อาทิ
ภาษาอังกฤษและภาษาถิ่นเม็กซิกัน สามารถพูดคุยกันได้โดยตรงด้วยภาษาของตนเอง พร้อมเสริมว่า
ทีมวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขึ้นจากซอฟต์แวร์ เวียวอยซ์ ทรานสเลเตอร์ (ViaVoice
Translator) ของบริษัท ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
โดยผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์เวียวอยซ์ จะต้องพิมพ์ข้อความในภาษาหนึ่งลงไป จากนั้นเครื่องจะแปลความหมายในอีกภาษาหนึ่งออกมาเป็นเสียง
นายเดวิด นาฮามู
ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีภาษามนุษย์ของไอบีเอ็ม กล่าวว่า โครงการค้นคว้าด้านการแปลคำพูดเป็นคำพูด
จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์แปลภาษา และซอฟต์แวร์จดจำเสียงได้ในหลายๆ ด้าน
เนื่องจาก การเกิดรูโหว่เพียงเล็กน้อย จะทำให้ระบบทั้งหมดไม่สามารถทำงานได้โดยสิ้นเชิง
อาทิ ซอฟต์แวร์มาสทอร์ จะหันมาใช้ฟังก์ชันแปลภาษา โดยยึดถือความหมายของคำ แทนที่จะแปลความหมายคำต่อคำ
ทำให้ข้อความหลายประเภทที่มีความหมายคล้ายกัน ถูกแปลออกมาเป็นประโยคเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่พูดว่า "ผมบาดเจ็บและต้องการหมอ"
หรือ "คุณช่วยตามหมอให้ทีได้ไหม"
จะถูกแปลออกมาเป็นประโยคเดียวกันในอีกภาษา ซึ่งบ่งบอกถึงความต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์
นายนาฮามูกล่าวอีกว่า
กระบวนการข้างต้น เหมาะสำหรับใช้ในพีดีเอ หรืออุปกรณ์พกพาขนาดเล็กอื่นๆ เนื่องจากวิธีการแปลเช่นนี้ไม่ต้องอาศัยพื้นที่จัดเก็บฐานข้อมูลมากนัก
ต่างจากการแปลภาษาแบบคำต่อคำในเครื่องพีซี ทั้งนี้ ทีมวิจัยเชื่อว่า
ซอฟต์แวร์ตัวนี้ จะมีประโยชน์สำหรับการใช้งานส่วนตัว, การใช้งานด้านธุรกิจ, การใช้พยากรณ์อากาศตามท้องถิ่นต่างๆ
ณ เวลาจริง และงานด้านสุขภาพ เช่น การใช้ในห้องฉุกเฉิน
ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม
ทางบริษัทยังไม่เปิดเผยว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถวางตลาดได้เมื่อใด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2546
|