เมื่อภาครัฐบาลมุ่งสู่ Open Source
คิดว่าผู้อ่านหลายๆ ท่าน คงจะรู้จักกับ linux กันดีอยู่แล้ว
เมื่อฉบับที่แล้ว กรุงเทพธุรกิจก็ได้เสนอเรื่องราวของ linux อีกรอบ
บางท่านอาจได้ยินมาว่า linux นั้นมีประสิทธิภาพสูง
มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือได้ และฟรี เหมาะอย่างยิ่ง ที่จะนำมาใช้ทดแทนซอฟต์แวร์ราคาแพงที่เราใช้ๆ
กันอยู่ในปัจจุบัน ถูกต้องครับ ข้อดีของ linux ที่คุณผู้อ่านได้รับฟังมานั้น
เราอาจได้ยินว่า linux ดีอย่างโน้นอย่างนี้
แต่ถ้าลองมองรอบตัวดูดีๆ ก็อาจจะรู้สึกว่า คนที่เอ่ยว่า linux ดี บางทีก็ไม่เห็นจะใช้ linux กันบ้างเลย
ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ล่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมนึกออกคงเป็นเรื่องของความคุ้นเคย ในเมื่อเรามีความสุขดีกับระบบเดิมๆ
อย่างวินโดว์ส ทำไมเราถึงจะต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบที่ไม่เคย ใช้
และได้ชื่อว่ายังใช้ยากอยู่ อย่าง linux บางคนอาจบอกว่า linux นั้นเป็นของฟรี ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ดังนั้น
ถ้าเกิดว่าระบบมีปัญหา ใครจะมาแก้ไขปัญหาให้ แต่นั่นเป็นเรื่องของเมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว เมื่อกระแส linux และโอเพ่นซอร์สบูมขึ้นมาใหม่ๆ
ในเมืองไทยก็เป็นกระแสความดังของ LinuxTLE4.1 และปลาดาว 1.0 ที่โผล่เข้ามาในช่วงตรวจจับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์พอดี ทุกคนต่างสนใจมัน หามาลองใช้เพื่อทดแทนการใช้งานซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ
สำหรับงานเดสก์ทอป อย่างวินโดว์ส และไมโครซอฟท์ออฟฟิศ แต่สุดท้าย
คนส่วนมากก็เบือนหน้าหนี เพราะยังไงก็รู้สึกว่าใช้งานยากอยู่ และไม่คุ้นเคย กระแส linux
ที่ดังอยู่พักหนึ่งก็ค่อยๆ ซาไป
ในอีกมุมหนึ่ง linux ที่ได้ชื่อว่าทำงานเซิร์ฟเวอร์ได้ยอดเยี่ยม
ก็ได้พิสูจน์ชื่อเสียงด้านนี้ของมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวบไซต์ส่วนมากในอินเทอร์เน็ต ทำงานด้วยเวบเซิร์ฟเวอร์อาปาเช่
(Apache) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และส่วนมากก็ทำงานบน linux
อีกที นอกจากนี้เราจะเห็นโซลูชั่นการพัฒนาเวบด้วยซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สอย่าง
Perl, PHP และฐานข้อมูลอย่าง MySQL เพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของ linux สำหรับงานด้านเดสก์ทอปในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา
ก็พัฒนาเพิ่มขึ้นมากพอสมควร
ปี 2003 นี้ จึงอาจเรียกได้ว่า
กระแสซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สได้กลับมาอีกครั้ง และคราวนี้เริ่มจะใช้งานได้จริงแล้ว ตามปกติแล้วนะครับ
บทพิสูจน์ที่ดีที่จะแสดงให้เห็นว่า ซอฟต์แวร์ใดใช้งานได้จริง นั่นก็คือ
การที่บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ได้หันมาใช้งานซอฟต์แวร์นั้นๆ ในการทำงานจริง แต่คราวนี้
ไม่เพียงทางฝั่งธุรกิจจะหันมาใช้โอเพ่นซอร์สกัน ฝั่งรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ
ก็เริ่มหันมาใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สกันแล้วครับ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ถ้าติดตามข่าวด้านนี้
จะพบว่ารัฐบาลรอบโลกได้หันมาประกาศใช้งานโอเพ่นซอร์สกันเยอะ จุดเริ่มต้นแรกเลยอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่
ที่หันมาพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง โดยอิงพื้นฐานจาก linux ด้วยชื่อว่า Red Flag Linux หรือลินิกซ์ธงแดง
ประเทศถัดมาที่หันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สคือ เยอรมนี
ซึ่งสาเหตุที่สำคัญนอกเหนือไปจากข้อดีของโอเพ่นซอร์สที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ ผู้พัฒนาระบบเดสก์ทอปหลักของ
linux ตัวหนึ่ง คือ KDE นั้นเริ่มมาจากเยอรมนี รวมไปถึงผู้พัฒนา
linux สัญชาติเยอรมนีอย่าง SuSE นั้นมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศ
ล่าสุดรัฐบาลเยอรมนีได้ให้ทางทีม KDE พัฒนาซอฟต์แวร์ Kroupware
เพื่อใช้ทำงานแทนซอฟต์แวร์อย่างพวก Microsoft Exchange หรือ Lotus Notes ด้วย
ประเทศอื่นๆ
ที่หันมาประกาศตัวว่าจะนำโอเพ่นซอร์สมาใช้งาน ก็มี อังกฤษ ฝรั่งเศส เปรู
สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ อินเดีย และใกล้ๆ บ้านเรานี่เอง นั่นคือ มาเลเซีย ซึ่งกรณีของมาเลเซียนั้นน่าสนใจมาก
เราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีมหาธีร์ นั้น มักจะไม่ค่อยทำอะไรตามโลกตะวันตกอยู่แล้ว คราวนี้นายมหาธีร์นั้นได้ออกมาสั่งการเองว่า
ต้องใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เพื่อลดค่าใช้จ่าย
และสร้างทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรมให้กับคนในชาติ เหตุผลข้อหลังนี้สำคัญมากเลยนะครับ
เป้าหมายของมาเลเซีย คือมุ่งสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) ที่กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ในปัจจุบัน
และต้องการสร้างทรัพยากรบุคคลด้าน IT ให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น
และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ดังนั้นถ้าใช้งานซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ
ผู้ใช้ก็จะทำอะไรไม่เป็นนอกไปจาก install และใช้งานตัวซอฟต์แวร์
แต่ถ้ามาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแล้วเนี่ย ผู้ใช้ก็จะมีทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น
แถมมาเลเซียก็จะเรียนรู้ได้เทคโนโลยีทางซอฟต์แวร์ใหม่ๆ จากโอเพ่นซอร์สในทางอ้อมอีกด้วย
ที่เอ่ยมานี้ผมไม่ได้พูดเองนะครับ เป็นความเห็นจาก Dinesh Nair ซึ่งทำงานให้กับ Malaysian National Computer Confederation ก็คงประมาณเนคเทคบ้านเรา
ทีนี้คุณผู้อ่านคงพอเห็นภาพบ้างแล้วว่า โอเพ่นซอร์สเริ่มจะหันมาใช้งานได้จริงแล้ว
ไม่เป็นเพียงกระแสเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งก็น่าจะถึงเวลาที่เราลองหันมาใช้โอเพ่นซอร์สกันใหม่อีกครั้ง
ด้วยข้อดีเดิมๆ นั่นก็คือ ประสิทธิภาพ ราคา และความปลอดภัย
ขอเพียงความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าเราสามารถใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สทดแทนซอฟต์แวร์เดิมๆ
ได้ไม่ยาก ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ "ทดแทน" แต่ยังไม่ถึงขั้น
"แทนที่" ก็ตามที
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546
|