การ์ทเนอร์ชี้บริการเอาท์ซอร์สไหลออกนอกสหรัฐ
การ์ทเนอร์
เผยผลวิจัยระบุธุรกิจเอาท์ซอร์สซิ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงในอีก 2 ปีข้างหน้า
ขณะที่ผู้ให้บริการเริ่มหันใช้แรงงานนอกประเทศ หวังลดต้นทุนพร้อมกระจายความเสี่ยงจากภาวะสงคราม
ชี้ตลาดยอดนิยม อินเดีย-จีน
สำนักข่าวซีเน็ต
รายงานผลการวิจัยบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ ซึ่งระบุว่า บริษัทที่ให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่งด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร
หรือไอที (IT) นั้น เริ่มหันไปใช้แรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา เป็นกลยุทธ์หลักในการขยายอัตราการเติบโตของบริษัท
ผลการวิจัย ยังแสดงให้เห็นว่า บริการเอาท์ซอร์สซิ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจากการสำรวจพบว่า
ในปี 2545 มีการทำ "ข้อตกลงในโครงการใหญ่"
หรือการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทภายนอกที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปถึง 14 คู่สัญญาด้วยกัน
ขณะที่เมื่อปี 2544 มีการทำข้อตกลงในระดับดังกล่าวเพียง 9
คู่สัญญา
บริการเอาท์ซอร์สซิ่งด้านไอที คือ
ระบบที่ผู้ประกอบการหันไปว่าจ้างบริษัทภายนอก ให้เข้าบริหารศูนย์ข้อมูลและดูแลรักษาระบบเทคโนโลยีของบริษัทตนแทน
โดยที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวมีอัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในภาคไอทีทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ให้บริการด้านไอทีในประเทศอินเดียหลายราย อาทิ อินโฟซิส
เทคโนโลยีส์ และไวโปร เทคโนโลยีส์ เริ่มประสบความสำเร็จในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการชาวอเมริกา
อาทิ ไอบีเอ็ม และฮิวเลตต์-
แพคการ์ด หันมาตั้งสำนักงานในต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในจีน
และอินเดีย เพื่ออาศัยประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานชาวท้องถิ่นซึ่งมีราคาถูกและมีศักยภาพสูง
สถาบันวิจัยการ์ทเนอร์ ระบุว่า อัตราเติบโตของบริการเอาท์ซอร์สซิ่งจากนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา
และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ นางอัลลี่ ยัง
หัวหน้านักวิเคราะห์โครงการบริการด้านไอที บริษัทการ์ทเนอร์
ดาต้าเควสต์ยังให้ความเห็นว่า ผู้ให้บริการทั่วโลกกำลังมีนโยบายตั้งธุรกิจให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่งนอกประเทศ
เช่นในประเทศอินเดีย หรือในประเทศใกล้เคียง เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สงบทางการเมือง และแนวโน้มการเกิดสงครามในตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ เปิดเผยว่า ไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ได้รับสัญญาว่าจ้างในโครงการใหญ่มากที่สุดในปี
2545 โดยทางบริษัทมีสถิติการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการต่างๆถึง
14 ราย
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546
|