ปรับ GDP จาก 8% เหลือ 7% สอดคล้องอุตฯขยายตัว 11%
นายประพัฒน์
โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวภายหลังงานสัมมนา
"นักธุรกิจพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี" สิ้นสุดลงว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
ในปี 2547 จากร้อยละ 8
เป็นร้อยละ 7 นั้นคิดว่าไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
เพราะมีความเข้าใจกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไข้หวัดนก-ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือภาวะขาดแคลนวัตถุดิบจากความแห้งแล้ง
อันเป็นผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงบางส่วน
นายประพัฒน์ได้กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 4
เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2547 การขยายตัวของอุตสาหกรรมลดลงจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ร้อยละ
12-13 เหลือร้อยละ 11 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ
7 ที่รัฐบาลได้ปรับลดลงมา แต่อย่างไรก็ตามตนมีความมั่นใจว่า
ปัญหาต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นช่วงไตร มาส 2
และ 3 ของปี 2547 เนื่องจากอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ
ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์มีการขยายตัวร้อยละ 15, อุตสาห กรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 20 และ
อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวร้อยละ 30
"ช่วงไตรมาสแรกยอมรับว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมีการชะลอตัวลงบ้าง
แต่ถือว่าไม่ใช่ปัญหาหนักมากนัก เพราะเกิดจากหมวดอุตสาหกรรมอาหารเพียงอย่างเดียว
ผมเชื่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงไตรมาสต่อไป เนื่อง จากเมื่อมองในอุตสาหกรรมอื่นๆ
ก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และปิโตรเคมี" นายประพัฒน์กล่าว
โดยนายประพัฒน์ได้เสนอปัญหาและแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมต่อนายกรัฐมนตรีใน
3 ประเด็นหลักคือ 1) เรื่องของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยผู้ประกอบการภายในประเทศไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าได้
อาทิ ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด ภาคเอกชนต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว
2) เสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
โดยให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้มีการจัดสัมมนา เชิญนักลงทุนเข้ามาดึสภาพจริงๆในพื้นที่
และ 3) ในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขอให้กำหนดมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ในภาพรวมมีความเชื่อมั่นในตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะโตได้ถึงร้อยละ
7 เพราะรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ
ได้แก่ 1) การพัฒนาพื้นฐานในระดับรากหญ้าของประเทศ
ช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
ให้เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงของประเทศ 2) ในเรื่องของภาษี
รัฐบาลจะต้องมีความเข้าใจถึงโครงสร้างของภาษีวัตถุดิบต้นน้ำและปลายน้ำ จะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงอย่างไรให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด
"ภาคเอกชนได้คุยกับทางภาครัฐเกี่ยวกับประเด็นของภาษีมาโดยตลอด
ได้มีการเสนอแนะ ให้ดึงเอาผู้ประกอบการ SME หรือผู้ประกอบการที่หลีกเลี่ยงภาษีขึ้นมาเสียภาษีให้ถูกต้อง
จะทำให้รัฐบาลมีฐานภาษีที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีโภคภัณฑ์ สรรพสามิต หรือสรรพากร
ผมคิดว่าผู้ประกอบการที่เลี่ยงภาษีแม้จะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ต้องคอยระแวงระวังการกระทำผิด
ซึ่งบางครั้งเมื่อถูกจับได้ก็อาจจะเสียค่าปรับมากกว่าเสียภาษีเสียอีก ดังนั้นควรจะเสียภาษีให้ถูกต้อง
และส่วนไหนที่เห็นว่าเป็นภาระมากเกินไป ก็ร้องขอให้รัฐบาลช่วยได้" นายเปล่งศักดิ์กล่าว
นอกจากนั้น นายเปล่งศักดิ์ได้กล่าวต่อไปว่า
ตอนนี้ในส่วนของประเทศจีน ถือเป็นปัญหาหนักของผู้ประกอบการภายในประเทศ
รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าของประเทศให้อยู่ในระดับกลางไปถึงระดับสูงมากขึ้น
ส่วนสินค้าระดับล่าง ถ้าสู้กับประเทศจีนไม่ไหว ก็จะต้องดูว่าจะปรับตัวอย่างไร โดยทางเลือกตอนนี้เห็นว่า
เรามีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือ ECS ก็อาจจะให้เป็นฐานการผลิตของประเทศที่มีต้นทุนสู้กับจีนได้ "นายกฯทักษิณได้มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไปสนใจประเทศเพื่อนบ้าน แท้ที่จริงแล้ว เราจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน
ไม่ใช่คิดรวยอยู่คนเดียว" นายเปล่งศักดิ์กล่าว
ด้านนายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธาน สอท.กล่าวว่า
นอกเหนือจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศด้วย
เนื่องจากปัจจุบันยังให้ความสำคัญในส่วนนี้น้อยมาก จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาหลักสูตรให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติ
ต้องสร้างให้คนไทยคิดได้ คิดเป็น ไม่ใช่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น นอกจากนั้น
ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมและกระบวนการผลิตใหม่ๆ
ที่ต้นทุนต่ำกว่า มีส่วนช่วยทำให้เกิดการปรับโครงสร้างการผลิต และการส่งออกของประเทศจากโครงสร้างที่พึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก
เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ผลิต ภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น "โดยส่วนตัวแล้ว
ถ้าถามว่า ปีนี้เศรษฐกิจโตได้ถึงร้อยละ 7 หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขต่างๆ
ที่แสดงข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านล้านบาท เป็น 4.1 ล้านล้านบาท
เงินสำรองมีประมาณ 7 แสนล้านบาท
แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้น คิดว่าเป้าหมายดังกล่าวคงจะไม่ไกลจนเกินไป
แต่ที่อยากจะบอกคือ รัฐบาลจะต้องไม่ละเลิกประเด็นของบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ"
นายนิพนธ์กล่าว
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2547
|