จีดีพีสหรัฐไตรมาส 3 หด 0.4% ติดลบครั้งแรกรอบ 10 ปี

เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงหนักสุดในรอบ 10 ปี ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตอกย้ำประเทศมหาอำนาจของโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย ขณะที่ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคสหรัฐ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ท่ามกลางภาวะหวาดวิตกเกี่ยวการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียแอนแทรกซ์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา หดตัวลง 0.4% การปรับตัวลดลงข้างต้น ถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปี หรือตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2534 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่สหรัฐอยู่ในภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงอย่างหนักในด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในรอบ 8 ปี และการลงทุนของกลุ่มธุรกิจที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถระบุผลกระทบจากเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. ที่มีต่อตัวเลขจีดีพีได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนแสดงความมั่นใจว่า เหตุวินาศกรรมดังกล่าวทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างแน่นอน

การหดตัวลงของจีดีพีในไตรมาส 3 นี้ มีขึ้นหลังจีดีพีไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้น 0.3% ซึ่งหากจีดีพีในไตรมาส 4 หดตัวลงอีกตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งตามคำจำกัดความของภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น หมายถึงตัวเลขจีดีพีปรับตัวลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ตัวเลขข้างต้นอยู่ในระดับที่ดีกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จีดีพีไตรมาส 3 อาจหดตัวลงถึง 1%

ดัชนีผู้บริโภคสหรัฐต่ำสุดรอบกว่า 7 ปี

ด้านสถาบันวิจัยทางธุรกิจภาคเอกชนหรือคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด ซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์ก เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (30 ต.ค.) ที่ผ่านมาว่า ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคประจำเดือนต.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 85.5 จาก 97.0 ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และถือเป็นระดับต่ำสุดนับแต่เดือน ก.พ. 2537 เป็นต้นมา การเปิดเผยข้างต้นซึ่งมีการปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนั้น มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน รายงานดัชนีความมั่นใจที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การจัดทำข้อมูลของคอนเฟอเรนซ์บอร์ด อาจเน้นหนักไปที่ความสิ้นหวังเกี่ยวกับตลาดแรงงาน ที่ถดถอยลงอย่างมากนับแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. นางลินน์ ฟรังโก นักเศรษฐศาสตร์ของคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ชี้ว่า เหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อยๆ ถดถอย มากกว่าที่จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดัชนีดังกล่าว มีพื้นฐานอยู่บนการสำรวจรายเดือนครอบครัวสหรัฐประมาณ 5,000 รายนั้น นับว่ามีความสำคัญ เพราะเชื่อกันว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้จ่ายในด้านนี้ลดลงอย่างหนัก นับแต่เกิดเหตุก่อการร้าย

ทั้งยังมีการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า ในวันศุกร์ (2 พ.ย.) นี้ กระทรวงแรงงานจะรายงานตัวเลขว่างงาน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ตามความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้นักเศรษฐศาสตร์ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ พิจารณาได้จากการประเมินของคอนเฟอเรนซ์บอร์ด ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งได้ขอให้ผู้บริโภคประเมินเกี่ยวกับตำแหน่งงานในปัจจุบัน และถามทั่วไปถึงสภาวะธุรกิจ ซึ่งนางฟรองโก กล่าวว่า ดัชนี "สภาวการณ์ปัจจุบัน" ลดลงจาก 144.5 ในเดือน ส.ค.มาอยู่ที่ 107.6 ในเดือน ต.ค. ถือเป็นการปรับตัวลดลงในช่วง 2 เดือน มากที่สุดนับแต่ปี 2523 ขณะส่วนที่ 2 นั้น เป็นการสอบถามผู้บริโภคเกี่ยวกับการมองตำแหน่งงาน และสภาพเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเกณฑ์วัดนี้ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 70.8 ในเดือนต.ค. จาก 78.1 ในเดือนก.ย. ซึ่งนางฟรองโก ชี้ว่า ตามปกติแล้ว ถ้าอ่านได้ในระดับต่ำกว่า 80 นั้น บ่งชี้ถึงภาวะถดถอย และดัชนีนี้ก็อยู่ในระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจกำลังดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 2533

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.