สมอ. จับพีซีเข้ากลุ่มแรกใช้มาตรฐานใหม่
สมอ. ผ่อนผัน แบ่ง 2
ระยะบังคับใช้ประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไอที โดยปีแรกเน้นกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
หลังจากนั้นค่อยขยายครอบคลุมทุกสายผลิตภัณฑ์ ที่มีอยู่กว่า 20 รายการ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในกลุ่มนี้ เพื่อลดแรงกระทบต่ออุตสาหกรรมการประกอบ
ของรายย่อยที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 2,000 รายทั่วประเทศ
นายสมคิด แสงนิล ผู้อำนวยการสำนักบริหารมาตรฐาน 2
สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมหรือสมอ. กล่าวว่า
ขณะนี้สมอ. ปรับระยะเวลาการบังคับใช้ "มาตรฐานบังคับบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ : จำกัดสัญญาณรบกวนวิทยุ"
ลง โดยจากเดิมที่มีเป้าหมายให้ครอบคลุมประกาศทั้งฉบับ สำหรับผลิตภัณฑ์ไอทีทุกรายการภายใน
60 วัน หลังการประกาศใช้กฎหมายใหม่ เป็นแบ่งการบังคับใช้เป็น
2 ระยะ
โดยปีแรกของการประกาศใช้ หรือภายในปี 2545 นั้น คาดว่าน่าจะครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
และอีก 2 ปีถัดไปจะขยายทุกผลิตภัณฑ์ไอทีที่ปัจจุบันมีราว 20 รายการ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของกลุ่มนี้ที่จะเข้ามาในอนาคต
และเป็นการบังคับใช้โดยอัตโนมัติ ภายใต้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
นี้ด้วย ส่วนกระบวนการประกาศใช้ มอก. ดังกล่าว
ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนสาเหตุที่ สมอ. ตัดสินใจขยายเวลาบังคับใช้เนื่องจาก
2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในการเข้าสู่ระบบมาตรฐานของ
มอก. โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ซึ่งมักอยู่ในภาคผู้ประกอบรายย่อยโดยไม่ได้เป็นผู้ผลิต
ซึ่งการผ่อนผันเวลาครั้งนี้ จะช่วยลดแรงกระทบให้แก่
ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย
2. เพื่อสร้างความพร้อมในการรับงานที่จะเพิ่มขึ้น
ของศูนย์ทดสอบที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 แห่งที่
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และลาดกระบังในชื่อ "พีเทค"
โดยส่วนของศูนย์ทดสอบของสถาบันไฟฟ้า ที่ผ่านมาได้ลงทุนเพิ่มไปบ้างแล้ว
สำหรับ มอก. นี้ ไม่ได้มองเป้าหมายหลักไปที่การกีดกันผลิตภัณฑ์นำเข้าอย่างที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มกังวล
เนื่องจากเมื่อดูถึงสถานการณ์ตลาดโดยรวมของประเทศไทย ปัจจุบันผู้ประกอบการคงไม่สามารถมองแต่โอกาสการทำตลาดในประเทศได้
แต่ต้องมองตลาดส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น การนำเอามาตรฐานระดับนานาชาติในลักษณะดังกล่าวเข้ามาใช้
จะเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการในไทย ด้านศักยภาพการแข่งขันในตลาดส่งออกได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา
สมอ. พยายามนำเอาระบบมาตรฐานสากล เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ประเทศไทยรับการอนุมัติเป็นสมาชิกหนึ่งใน 42 ประเทศทั่วโลก ในระบบการยอมรับใบรับรองของการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
(IECEE) ที่เป็นมาตรฐานด้านการค้าระหว่างประเทศในการยอมรับการทดสอบ
และการรับรองระหว่างประเทศคู่ค้าทั้ง 2
ฝ่ายในกลุ่มสมาชิกโดยอัตโนมัติ
โดยหลังจากการเข้าเป็นสมาชิกในไออีซีอีอี
แล้วจะดำเนินกระบวนการขั้นต่อไป เพื่อนำไปสู่การยอมรับผลทดสอบตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องเร่งพัฒนาศูนย์ทดสอบที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้ง
2
แห่งข้างต้น หรืออาจรวมไปถึงศูนย์ทดสอบที่ภาคเอกชนมีอยู่ ให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้
คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้งกระบวนการภายในปีนี้ การเข้าร่วมดังกล่าวในเบื้องต้นประเทศไทยจะเข้าร่วมใน
5 กลุ่ม ได้แก่ สายไฟฟ้า, อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน,
หลอดไฟ ไอที และสื่อบันเทิงที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์
ล้อมกรอบ
ศูนย์ทดสอบไทยพร้อมรับมือ
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขานรับ
มั่นใจความพร้อมศูนย์ทดสอบไทย 2 แห่ง มีมากกว่าประเทศอื่น ทั้งมีประสิทธิภาพ
และทำงานได้รวดเร็วพอ เชื่อมาตรฐานการผลิตภัณฑ์สร้างความเท่าเทียมทางการค้า นายโกวิท
มาศรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เชื่อว่าศูนย์ทดสอบทั้ง
2 แห่งมีความพร้อมในการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เพราะระยะเวลาการทดสอบด้านคลื่นรบกวนสัญญาณวิทยุ
(อีเอ็มซี) นั้นใช้เวลาประมาณ 30
นาทีถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
และสามารถแจ้งผลได้ในเวลา 1 - 2 วัน โดยกระบวนการทำงานนั้น
จะเป็นไปตามลำดับคิว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรองรับการทดสอบได้ทั้งหมด
เพราะในต่างประเทศเอง ไม่ได้มีศูนย์ทดสอบมากเท่ากับในประเทศไทย เฉพาะในทวีปเอเชียมีศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพียง
3 แห่งเท่านั้น ซึ่ง 2 แห่งแรกอยู่ในประเทศไทยคือ
ศูนย์ทดสอบที่บางปู และพีเทค ที่ขึ้นตรงกับเนคเทค ตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเท่านั้น
ส่วนอีกที่หนึ่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์
มองข้อดี -เสียใบรับรอง
นายโกวิท กล่าวต่อว่า หากมองถึงประโยชน์
ของการมีใบรับรองในประเทศแล้ว เห็นว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น
เพราะที่ผ่านมาใบรับรองนี้ถูกใช้เป็น "กำแพงเทคโนโลยี" ที่ต่างประเทศใช้กีดกันสินค้าจากประเทศไทยไม่ให้เข้าไปขายหากไม่ผ่านการรับรอง
ซึ่งผู้ผลิตชาวไทยเมื่อผลิตสินค้าแล้ว ก็อาจจะจ้างศูนย์ทดสอบที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
เช่น สิงคโปร์ให้ทดสอบจึงสามารถนำสินค้าเข้าไปขายได้ ขณะเดียวกัน
มาตรฐานที่ประเทศไทยตั้งขึ้นนี้ กลายเป็นการใช้ "กำแพงเทคโนโลยีของไทย"
ที่จะทำให้ผู้ค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องนำสินค้าเข้ามาตรวจ
และรับใบรับรองในประเทศไทย ซึ่งอาจช่วยถ่วงเวลาให้อุตสาหกรรมไฟฟ้า
และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศตื่นตัว และเตรียมพร้อมรับการแข่งขันได้ ทั้งนี้เขามองว่า
การติดต่อเพื่อตรวจรับใบรับรองในประเทศไทย อาจเป็นปัญหากับผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศเนื่องจากการติดต่อประสานงานด้านเอกสารที่อาจยุ่งยาก
ซึ่งผู้ประกอบการในไทย จะได้เปรียบกว่าในการเตรียมเอกสารและการติดต่อต่างๆ
สร้างความเท่าเทียม
นายโกวิท กล่าวด้วยว่า
การตั้งมาตรฐานในประเทศไทย เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้ผู้ผลิตทั้งไทย
และต่างประเทศเกิดความเท่าเทียมกัน ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนจำหน่าย - นำเข้า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม
2545
|