บริษัทญี่ปุ่นรุกผลิตเครื่องบันทึกดีวีดี
โตเกียว - โซนี่, มิตซูบิชิ
และฮิตาชิ นำทีมผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น เดินหน้าผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดีอย่างเต็มตัว
ตอบรับกระแสความนิยมของตลาด ชูจุดเด่นรองรับมาตรฐานการใช้งานทุกรูปแบบ
โฆษกหญิงของบริษัท โซนี่ คอร์ป. ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก
เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะเริ่มผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดีในฤดูใบไม้ผลิหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิฮอน
เคอิไซ ชิมบุ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "มาตรการดังกล่าว
จะเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาให้กับบริษัท" โฆษกหญิง กล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทโซนี่
เริ่มจัดจำหน่ายอุปกรณ์บันทึกดีวีดี โดยจ้างบริษัทไพโอเนียร์ คอร์ป. ผลิตและนำออกขายในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อการค้า "โซนี่"
พร้อมกันนี้ หนังสือพิมพ์นิฮอน เคอิไซ
ยังรายงานว่า บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ป. ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทไพโอเนียร์
และบริษัทฮิตาชิ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยแผนผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดีของตนเองเช่นกัน
ขณะที่ โฆษกบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว
แต่แหล่งข่าวในบริษัท ยืนยันว่า ทางบริษัทมีแผนจะผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดี
ที่มาพร้อมกับฮาร์ดดิสก์ในตัว ประมาณปลายปีนี้ ด้วยกำลังการผลิต 1,000 เครื่องต่อเดือน ส่วนโฆษกหญิงของบริษัทฮิตาชิ กล่าวว่า
ไม่สามารถยืนยันรายงานข่าว ซึ่งระบุว่าบริษัทจะผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดีชนิดมีฮาร์ดดิสก์ในตัว
4,000 เครื่องต่อเดือน ราวปลายปีหน้า
อุปกรณ์บันทึกดีวีดี วางตลาดครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะมีความกังวลว่า รูปแบบที่แตกต่างกันจะสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคก็ตาม ทั้งนี้
บริษัท มัตสึชิตะ อิเล็กทริก อินดัสเทรียล โค. เจ้าของเครื่องหมายการค้าพานาโซนิค
และผู้ผลิตอุปกรณ์บันทึกดีวีดีรายใหญ่ ประเมินว่า ตลาดอุปกรณ์บันทึกดีวีดีทั่วโลก
จะสูงถึง 15 ล้านเครื่อง ในปี 2548 หรือมากกว่าตัวเลขประเมินในปีนี้
10 เท่า อย่างไรก็ดี อุปกรณ์บันทึกดีวีดีจำนวนมาก
ซึ่งกำลังจะวางตลาดในเร็วๆ นี้ สามารถใช้มาตรฐานอุปกรณ์บันทึกดีวีดีชั้นนำได้ 2 รูปแบบ จากทั้งหมด 3 รูปแบบ ขณะเดียวกันประมาณปลายปีหน้า
บรรดาผู้ผลิต จะทยอยเปิดตัวอุปกรณ์บันทึกดีวีดีรุ่นใหม่ ใช้มาตรฐานบลูเรย์ และสามารถบันทึกข้อมูลลงบนแผ่นเดี่ยวได้มากกว่ามาตรฐานเลเซอร์สีแดงในปัจจุบันได้หลายเท่า
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2545
|