ญี่ปุ่นเลือกไทยตั้งศูนย์วิจัย ไอที-สื่อสาร เชื่อมโยงทั่วเอเชีย
สร้างห้องปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณขยายผลจากไทยสู่ภาษาเพื่อนบ้าน
ญี่ปุ่น เลือกไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศ ตั้งศูนย์วิจัยและทดลองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ซีอาร์แอล) นอกประเทศ ทำหน้าที่แหล่งเชื่อมโยงศูนย์วิจัยด้านเดียวกันทั่วเอเชีย
นายวิรัช ศรล้ำเลิศวาณิช
ผู้เชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ (Thai Computational Linquistics Laboratory) ซึ่งเป็น 1 ใน 2
ของหน่วยงานในไทย ที่เกิดจากการลงทุนเข้ามาตั้งของศูนย์วิจัยและทดลองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(Communication Research Laboratory : ซีอาร์แอล) กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้ได้รับทุนอุดหนุนการจัดตั้งจำนวน 20 ล้านบาท จากซีอาร์แอล ที่เป็นองค์กรอิสระสังกัดรัฐบาลญี่ปุ่น
ซึ่งเข้ามาตั้งหน่วยงาน 2 แห่งในไทย คือ ห้องปฏิบัติการแห่งนี้
และศูนย์ประสานงานวิจัย ซีอาร์แอล เอเชีย รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ที่ทำหน้าที่ประสานงานวิจัยต่างๆ
ที่เคยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในไทยอยู่แล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการวิจัยภาษา
มีเป้าหมายเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติหลักในทวีปเอเชีย และมีแผนสร้างรายได้จากความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนากับภาครัฐ
เอกชน และองค์กรด้านการศึกษา
สำหรับงานวิจัยชิ้นแรกที่ไทยและญี่ปุ่นร่วมกันพัฒนาในศูนย์วิจัยแห่งนี้คือ
การวิจัยและพัฒนาด้านภาษาศาสตร์ เน้นที่ภาษาในเอเชีย เพื่อให้เวบไซต์ทุกภาษา สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้
เช่น คนไทยสามารถอ่านเวบไซต์ภาษาญี่ปุ่นได้ เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องมือ
(ทูลส์)
ในการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่
ทั้งด้านความรู้และวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังตั้งเป้าหมายให้ศูนย์แห่งนี้
เป็นศูนย์กลางในเอเชีย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับศูนย์วิจัยต่างๆ ในเอเชีย อาทิ ศูนย์วิจัยสื่อสารไร้สายในสิงคโปร์
ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยนอกญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งของซีอาร์แอล
วางกรอบวิจัย 5 ด้าน
นายวิรัชกล่าวว่า
ศูนย์ในประเทศไทยจะทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาใต้กรอบ 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การต่อยอดโครงการประมวลผลภาษาธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างคำ
และความหมายของคำจากมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมา ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารในประเทศญี่ปุ่น
และเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งใช้การสื่อสารผ่านเวบไซต์ ก็จะปรับรูปแบบใหม่จากเดิมที่เมื่อมีการแปลภาษาแบบหน้าต่อหน้า
ก็จะกลายเป็นการสร้างและดูแลข้อมูลเดียว โดยระบบจะทำการประมวลผลและแปลความหมายของคำต่างๆ
เป็นภาษาได้หลากหลาย เป็นต้น
2.การสร้างเครือข่ายพจนานุกรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน
(อาเซียน ดิกชั่นนารี เน็ตเวิร์ค) โดยพัฒนาต่อยอดจากพจนานุกรม
"เล็กซิตรอน" ที่เรียบเรียงตำแหน่งของตัวอักษร
พร้อมกับการเรียนรู้โครงสร้างคำ และตัวอย่างประโยคของแต่ละภาษาจากเจ้าของประเทศนั้นๆ
โดยในช่วงทดลองนี้ จะเริ่มต้นสร้างฐานข้อมูลจากภาษาไทยและญี่ปุ่น ก่อนพัฒนาต่อไปยังประเทศพม่า
ลาว เวียดนาม เป็นต้น
3.การต่อยอดโครงการไบโอ อินฟอร์เมติก
ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำการเก็บข้อมูล และประมวลผลรหัสพันธุกรรม เพื่อวิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างของโปรตีนในแต่ละตำแหน่งของดีเอ็นเอ
เมื่อได้รูปแบบและทราบการทำงาน ก็จะสามารถเข้าใจการทำงานของระบบพันธุกรรมทั้งในมนุษย์
สัตว์ หรือเชื้อโรคต่างๆ
4.การพัฒนาโครงการด้านโอเพ่นซอร์ส
โดยล่าสุดเจรจากับคณะทำงานอี-อาเซียน ในการจัดตั้งกลุ่มย่อยของการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส
ซึ่งประเทศไทยและเวียดนาม จะเป็นแกนหลักในการผลักดัน และ
5.การจัดตั้งซอฟต์แวร์แบงก์
ที่รวบรวมซอฟต์แวร์ต่างๆ ทั้งโอเพ่นซอร์สและซอฟต์แวร์อื่นๆ
โดยแต่ละประเทศจะมีศูนย์กลางการเก็บและดูแลข้อมูล ซึ่งล่าสุดบริษัท ทศท
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบการโฮสติ้งซอฟต์แวร์ของประเทศไทย
ด้านนายวาตารุ ชูโจ ผู้อำนวยการศูนย์ซีอาร์แอล
เอเชียฯ กล่าวว่า สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น พร้อมจะเพิ่มงบประมาณเมื่อมีการเติบโตขององค์กรและจำนวนนักวิจัย
รวมถึงอนาคตอาจเพิ่มห้องปฏิบัติการด้านการสื่อสารไร้สาย ที่พัฒนาด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติม
หลังจากปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการดังกล่าวแล้วในสิงคโปร์
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2546
|