บีโอไอไฟเขียวโตโยต้า ย้ายฐานปิคอัพมาไทย

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียว "โตโยต้า" ลงทุน 21,577 ล้านบาท ตั้งฐานการผลิตรถปิกอัพในไทย เพื่อผลิตส่งออกทั่วโลก พร้อมขยายเวลาต่างชาติถือครองที่ดินเพิ่มอีก 5 ปี และอนุมัติอีก 3 โครงการลงทุนของคนไทย รวมมูลค่า 8,334 ล้านบาท แต่ไม่ผ่านโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อวานนี้ (8 เม..) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุน 21,577 ล้านบาท

 

เนื่องจากเป็นโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนตรงตามมาตรการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์แบบโครงการรวม หรือ คลัสเตอร์ ของบีโอไอ คือ มีโตโยต้าเป็นผู้ลงทุนในกิจการประกอบรถยนต์ และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับโตโยต้า จำนวน 56 ราย โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้เมื่อรวมมูลค่าการลงทุนของโครงการประกอบรถยนต์ของโตโยต้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนแล้ว จะมีทั้งสิ้น 42,822 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกอบรถยนต์ 21,577 ล้านบาท การผลิตเครื่องยนต์ 3,281 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ 17,964 ล้านบาท

 

โดยโครงการนี้ถือเป็นการย้ายฐานการผลิตรถปิกอัพทั้งหมดของบริษัทโตโยต้าที่ประเทศญี่ปุ่นมาอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกทั่วโลก ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ทั้งในระดับ TIER 1 , TIER 2 และ TIER 3 จำนวนประมาณ 600 ราย ซึ่งทางโตโยต้าได้ประมาณการว่า เฉพาะมูลค่าการซื้อชิ้นส่วนภายในประเทศในระดับ TIER 1 จะเพิ่มขึ้น จาก 12,500 ล้านบาท ในปัจจุบัน เป็น 60,000 ล้านบาท ในปี 2549

 

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า โตโยต้าจะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D CENTER) ขึ้นที่ไทย เพื่อสนับสนุนการย้ายฐานการผลิต และเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์ที่ 3 ของโตโยต้าทั่วโลก รองจากที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ใน 1-2 ปีนี้

 

นอกจากนี้ บริษัท โตโยต้า ยังมีแผนช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและฝึกอบรมแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยได้จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นไว้ประมาณ 300 คน เพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ยังไม่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยจะให้เข้ารับการฝึกอบรมในด้านต่างๆ

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ทางโตโยต้ายังได้ติดต่อประสานงานกับสถาบันการศึกษาของไทยทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับช่างเทคนิค เพื่อเตรียมจัดหานักศึกษาที่จบตามสาขาที่ต้องการ เช่น สถาบันเทคโนโลยีสิรินธร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะโครงการนี้จะจ้างคนงานเพิ่มอีกจำนวน 3,000 คน โดยมีแผนจะฝึกอบรมคนงานใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้โครงการนี้จะมีกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 200,000 คันต่อปี ทั้งรถปิกอัพตอนเดียว ปิกอัพสองตอน ปิกอัพสี่ประตู และรถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อนสี่ล้อ และมีกำลังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ปีละประมาณ 7,695,800 ชิ้น ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 60% โดยมีตลาดหลักได้แก่ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ยุโรปบางประเทศ และเอเชีย สามารถเริ่มการผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2547

 

นอกจากนี้นายสมศักดิ์ ยังได้กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างประเทศถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับตั้งสำนักงานและที่พักอาศัยให้กับนักลงทุนต่างประเทศออกไปอีก 5 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2540 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2545

 

ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2540 - 2545) ที่ได้ใช้มาตรการดังกล่าว มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อตั้งสถานประกอบการจำนวนประมาณ 10,600 ไร่ และถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อตั้งเป็นสำนักงานและที่พักอาศัยประมาณ 251 ไร่ นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการของคนไทยทั้งหมด 3 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,334 ล้านบาท ได้แก่การขยายพันธุ์และเลี้ยงเป็ดเนื้อของบริษัท กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร เงินลงทุน 1,150 ล้านบาท กิจการขนส่งทางอากาศของบริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นการให้บริการขนส่งทางอากาศ ภายในประเทศและต่างประเทศ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 734.16 ล้านบาท นอกจากนี้ยังอนุมัติโครงการกิจการผลิต PHENOL และ ACETONE ของนายไพบูลย์ ปัญญวุฒิ ซึ่งเป็นการผลิต PHENOL 200,000 ตันต่อปี และ ACETONE 123,408 ตันต่อปี ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้เงินลงทุน 6,450 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม บอร์ดบีโอไอไม่อนุมัติโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท ภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท น้ำตาลมิตรผล โดยได้ให้ทางสำนักงานบีโอไอกลับไปศึกษาดีมานด์และซัพพลายของการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศ และนำมาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไป สำหรับโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท ภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี เป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด 41 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 240 ตันต่อชั่วโมง ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เงินลงทุน 1,624 ล้านบาท

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.