"หมอเลี้ยบ" ถกบีโอไอ อัดสิทธิประโยชน์เพิ่ม หนุนอุตฯซอฟต์แวร์
"หมอเลี้ยบ" นัด "BOI"
วางกรอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งระบบใหม่ หวังสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
ชี้ที่ผ่านมา BOI มีข้อจำกัดด้านการกำหนดเขตพื้นที่ตั้งโรงงานในเขต
1-2-3 ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน พร้อมเสนอให้ยกเลิกเพดานการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมูลค่าการลงทุน
และเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้สะดวกขึ้น
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะหารือร่วมกับนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(BOI) เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์สื่อผสม หรือแอนิเมชั่นมัลติมีเดีย (animation
multimedia) เนื่องจากบริษัทผู้พัฒนาของไทยค่อนข้างมีความพร้อมมาก โดยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แอนิเมชั่นมัลติมีเดีย
จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจการลงทุนที่น่าสนใจ โดยการพัฒนาซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้จะบรรจุอยู่ในแผนงานของ
สำนักงานส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (SIPA : Software Industry
Promotion Agency) โดยกรอบการหารือในเบื้องต้นนั้น
กระทรวงไอซีทีจะนำเสนอแนวคิดให้ BOI พิจารณาในประเด็นหลักเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล, สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าอุปกรณ์
ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากขึ้น
นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวว่า
ในหลักการเบื้องต้นทางกระทรวงไอซีทีมีความเห็นว่า สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านซอฟต์แวร์นั้น
ไม่ควรจำกัดในเรื่องเขตพื้นที่ตั้งของบริษัท หรือให้สิทธิประโยชน์เฉพาะการลงทุนในอาคารใดอาคารหนึ่งเท่านั้น
เนื่องจากการให้บริการในภาคอุตสาหกรรมนี้มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งควรมีการปรับปรุงเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน
ในขณะที่นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
(SIPA) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ว่า แม้ว่าในปัจจุบันกิจการซอฟต์แวร์จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก
BOI แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ
อาจจะยังไม่เอื้อประโยชน์ในการลงทุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งที่ผ่านมายังไม่มีการหารือเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน
ดังนั้น ในโอกาสนี้ทางกระทรวงไอซีทีจึงต้องการที่จะหารือกับ BOI เพื่อกำหนดมาตรการให้ชัดเจนและเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะจำกัดว่า
จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่เกินวงเงินการลงทุน ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัด เพราะบริษัทซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่จะมีทุนจดทะเบียนไม่สูงอยู่แล้ว
รวมถึงความไม่ชัดเจนของคำนิยามของ "บริษัทซอฟต์แวร์"
ที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วย
นายมนูกล่าวว่า เท่าที่ศึกษาข้อมูลและหารือกับภาคเอกชน
สิ่งที่ต้องการให้ BOI ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้จะมีอยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1)การไม่จำกัดโซนหรือพื้นที่ในการลงทุน
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาต่างๆ สามารถลงทุนได้โดยสะดวก เพราะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่กระทบกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
2)ไม่ควรที่จะจำกัดเพดานการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวงเงินของทุนจดทะเบียน
และ 3)เรื่องของการสนับสนุนให้บริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้รับการลงทุนสามารถนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น
ซึ่งปัจจุบันบริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก็ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวตามกรอบของ
BOI แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการดำเนินการค่อนข้างมาก
ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า BOI พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
เนื่องจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็น 1 ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
และยังเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาประเทศด้วยไอซีที อย่างไรก็ดี การหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีในครั้งนี้
จะเป็นการหากรอบเพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น "สิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้คือ
จะได้รับการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลจำนวน 0% รวมทั้งพิกัดอากรนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ในอัตรา 0%
รวมทั้งการปรับแก้เงื่อนไขบางอย่างให้เหมาะสม ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีจะเป็นฝ่ายดำเนินการเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ
เพราะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่แล้ว ส่วน BOI ก็จะพิจารณาและศึกษาแผนควบคู่กันไป"
นายสมพงษ์กล่าว
อนึ่ง สิทธิประโยชน์ที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน
ประกอบไปด้วย 1)ถ้าตั้งโรงงานในเขต 1-2 จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
ไม่เกิน 5 ปี 2)ถ้าตั้งโรงงานในเขต 3
จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
ไม่เกิน 8 ปี โดยการยกเว้นดังกล่าวคิดตามมูลค่าของเงินลงทุน
และ 3)ถ้าตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับตั้งโรงงานในเขต
3
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2546
|