"บีโอไอ" โดดอุ้มอุตฯซอฟต์แวร์ บ.ไทย-เทศทั่วปท.ได้เว้นภาษี 8 ปี

บีโอไอขานรับซิปป้า หนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เต็มสูบ ให้สิทธิประโยชน์บริษัทซอฟต์แวร์ไทย-เทศโดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีเต็มทั่วประเทศ จากเดิมจำกัดเฉพาะบริษัทที่ลงทุนในซอฟต์แวร์พาร์คเท่านั้น เผยเตรียมเสนอบอร์ดบีโอไอในการประชุมครั้งต่อไป พร้อมแก้ปมปัญหาการให้วีซ่าพิเศษผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานถ่ายทอดโนว์ฮาว

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิปป้า) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่ซิปป้าได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ขณะนี้ได้มีข้อสรุปในเบื้องต้นแล้ว โดยบีโอไอจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดในครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่ทางบีโอไอได้พิจารณา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องจากเอกชน คือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีเต็มให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยไม่จำกัดว่าบริษัทดังกล่าวจะลงทุนในพื้นที่ใดในประเทศไทย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาบีโอไอจะจำกัดสิทธิยกเว้นภาษีเงิน 8 ปีเฉพาะบริษัทที่ลงทุนในเขตอุตสาหกรรมซอฟต์ แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เท่านั้น และผู้ที่ลงทุนนอกซอฟต์แวร์พาร์คก็จะได้รับยกเว้นภาษีเพียง 5 ปี นอกจากนี้เดิมยังมีข้อจำกัดว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ลงทุนด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะต้องไม่เกินเงินลงทุนของบริษัท ซึ่งในเงื่อนไขใหม่นั้นจะยกเลิกเพดานดังกล่าว

นายมนูกล่าวว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมซอฟต์ แวร์เป็นอุตฯที่มีการลงทุนต่ำ ไม่เหมือนอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ที่จะต้องมีการลงทุนในแง่ทรัพย์สินหรืออุปกรณ์จำนวนมาก ทำให้เม็ดเงินในการลงทุนของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่สูงมากแต่เป็นการลงทุนด้านบุคลากรมากกว่า แต่เงื่อนไขเดิมของ บีโอไอจำกัดไว้ว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องไม่เกินงบฯการลงทุนทำให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์น้อยไม่เป็นที่จูงใจ นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านซอฟต์แวร์มากขึ้นคือ การขจัดปัญหาเรื่องการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงาน เพราะในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต้องอาศัยการถ่ายทอดโนว์ฮาวและเทคโนโลยีต่างๆ การที่จะพัฒนาคนไทยก็ต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาด้วย ซึ่งแต่เดิมบีโอไอก็จำกัดให้เฉพาะบริษัทที่มีการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิในการออกวีซ่าพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ได้ แต่ในเงื่อนไขใหม่นั้นบีโอไอได้ตกลงที่จะให้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว

โดยบีโอไอจะมอบหมายให้ซิปป้าทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตัวแทนในการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามาว่าเป็น knowlage worker ทางด้านซอฟต์แวร์ตามที่บริษัทนั้นยื่นขอไว้หรือไม่ รวมถึงการพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้ประกอบการที่มายื่นของนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เรียกว่าซิปป้าเป็นผู้ช่วยดูแลในเรื่องคุณสมบัติในการพิจารณาเพื่อที่จะพิจารณาออกวีซ่าพิเศษให้ได้ภายใน 1 วัน จากเดิมที่บริษัทใดต้องนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานจะต้องใช้เวลานานร่วมเดือน และจะต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การที่บีโอไอจะเสนอบอร์ดเพื่อปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนนั้น ในขณะเดียวกันก็จะมีขบวนการตรวจสอบบริษัทต่างๆ ที่มายื่นขอสิทธิประโยชน์ว่าเป็นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อย่างไรถึงจะเรียกว่าเข้ามาลงทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ใช่เพียงเป็นแค่การทำตลาด หรือเป็นการเข้ามาทำภาษาท้องถิ่นเท่านั้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.