บีโอไอปลุกลงทุนคลัสเตอร์ เปิดฟรีเขตพื้นที่ตั้งโรงงาน

เบรก 6 กิจการยังคงต้องอยู่ในเขตพื้นที่เดิม หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

 

เอกชนหนุนแนวคิดบีโอไอทันสมัย

บอร์ดบีโอไอ เปิดฟรีพื้นที่ตั้งโรงงาน ล้มเงื่อนไขเดิมกำหนดเขตลงทุนกิจการ หวังให้เกิดลงทุนแบบคลัสเตอร์ "สมคิด" ย้ำไม่ทำลายระบบโซนนิ่ง ยันทุกเขตได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม เบรก 6 กิจการอยู่พื้นที่เดิมหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเอกชนขานรับนโยบายใหม่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วานนี้ (19) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ยกเลิก ข้อกำหนดเขตที่ตั้งโรงงาน จากเดิมกำหนดให้กิจการบางประเภทต้องตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขตใดเขตหนึ่งเป็นการเฉพาะมาเป็นให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกที่ตั้งโครงการได้ทุกเขต ทั้งกิจการใหม่ และขอขยายการลงทุน โดยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างไปตามเขตที่ตั้งเหมือนเดิม ซึ่งบีโอไอจะประกาศบังคับใช้ภายใน 1 เดือนจากนี้ "ต้องย้ำว่าการอนุมัติครั้งนี้ไม่ได้ทำลายระบบโซนนิ่ง หรือขัดนโยบายกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาค เพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้รับยังเป็นไปตามเขตส่งเสริมการลงทุน เพียงแต่ยกเลิกข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ตั้ง เพื่อรับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จึงต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบรวมตัว หรือคลัสเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้กิจการที่เข้ามาลงทุน ได้ตั้งโรงงานในพื้นที่ ที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ผู้ใช้สินค้าระบบ สาธารณูปโภคต่างๆ และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขยายการผลิต โดยไม่ถูกจำกัดเรื่องเขตที่ตั้งอีกต่อไป" ดร.สมคิด กล่าว

 

จำกัดกิจการกระทบสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอยังคงให้กิจการ 6 ประเภท ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังต้องตั้งโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่เฉพาะ เช่น กิจการฟอกหนังสัตว์ ฟอกย้อม กิจการชุบแข็งที่ใช้สารไซยาไนด์ และกิจการรีไซเคิล ซึ่งจะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กิจการประเภทซ่อมชิ้นส่วนยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องตั้งในเขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อมิให้กระทบต่อผู้ประกอบการรายเดิมที่ไม่ได้รับการส่งเสริม และกิจการเขตอุตสาหกรรม กิจการเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับประกอบการค้าเสรี ต้องไม่ตั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมิให้มีการตั้งโรงงานแออัดมากขึ้น

 

ยันไม่กระทบนโยบายกระจายลงทุนภูมิภาค

นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า การยกเลิกข้อกำหนดเขตที่ตั้งโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาค เพราะสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับยังคงสูงกว่าเขตอื่นเหมือนเดิม ซึ่งในปี 2540 บีโอไอก็เคยออกมาตรการชั่วคราว เพื่อผ่อนผันให้ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกสามารถตั้งโรงงานได้ทุกเขต และได้สิ้นสุดไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 "การให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ไม่ถือว่าเป็นสิ่งจูงใจนักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป แต่จะต้องรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกการลงทุน ความพร้อมสาธารณูปโภค หรือแม้กระทั่งการนำระบบพี่เลี้ยงมาใช้ให้เกิดการบูรณาการ" นายสมพงษ์ กล่าว

 

ผู้ประกอบการเหล็กระบุเอสเอ็มอีได้ประโยชน์

ด้าน นายวิสุทธิ์ จิราธิยุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหวิริยาสตีล ซินดิเกต จำกัด ให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เพราะการขยายตัวไปยังเขตอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นให้เป็นระบบคลัสเตอร์จะทำได้ง่ายกว่าผู้ผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ "เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ นอต สกรู ซึ่งจะใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร หรือเครื่องมือในอุตสาหกรรมต่อๆ ไป จริงๆ แล้วแม้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กจะไม่ได้ขยายตัวมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา และไม่ได้มีกิจการใหม่ๆ เข้าไปขอเป็นสมาชิกบีโอไอ แต่ผมมองว่าในระดับประเทศแล้วถือว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดี เพราะระบบคลัสเตอร์ จะช่วยลดภาระค่าขนส่ง และสร้างให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่ม เชื่อว่าหลังจากมีการประกาศนโยบายนี้ออกมา จะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจ และการลงทุนในทุกอุตสาหกรรมจะขยายตัวมากขึ้นด้วย"

 

เชื่อไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ส่วนกรณีของผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อการผลิต นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะสิ่งแวดล้อมมากอย่างที่หลายฝ่ายห่วงใย เพราะแต่ละโรงงานได้ผ่านมาตรฐานการรับรองเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และโอกาสในการทำธุรกิจที่เปิดกว้างขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถมีเงินลงทุนในส่วนของการจำกัดของเสียจากโรงงานอย่างถูกวิธีได้

 

จี้กรมคุมมลพิษปรับกฎรับนโยบายใหม่บีโอไอ

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่น บริษัท บางจาก ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ 127 กิจการขยับขยายฐานที่ตั้งโดยไม่จำกัดพื้นที่ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันเตาอย่างแน่นอน ในลักษณะของผลสืบเนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นส่วนประกอบในการผลิต และจะเชื่อมโยงกับมาตรการของสิ่งแวดล้อมตามที่กรมควบคุมมลพิษได้ประกาศไว้ "ตอนนี้เรามีน้ำมันเตาจำหน่ายอยู่ 2 ประเภท คือ 3% และ 2% แต่กรมควบคุมมลพิษ ประกาศให้มี 13 จังหวัดเท่านั้นที่ใช้น้ำมันเตาแบบ 2% ที่เหลือจะใช้น้ำมันเตาแบบ 3% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จะทำให้มีการนำน้ำมันเตาที่มีมลพิษสูงเข้ามาขายได้โดยปราศจากความควบคุม เพราะไม่มีเขตกำหนดอุตสาหกรรมแล้ว"

 

นายมนูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมภาครัฐจะเข้ามาควบคุมให้มีการจำหน่ายในบริเวณที่กำหนด แต่หากมีการเปิดเสรีอุตสาหกรรม น้ำมันเตาชนิด 3% จะถูกใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหามลภาวะที่มากขึ้น ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจะต้องมีส่วนเข้ามาร่วมวางนโยบายให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง และน่าจะเสนอให้ยกเลิกใช้น้ำมันเตาที่มีมลภาวะสูง คือ 3% และสนับสนุนให้มีการหันมาใช้น้ำมันเตาชนิด 2% อย่างแพร่หลายมากขึ้น "ส่วนที่กระทบกับอุตสาหกรรมน้ำมันมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของค่าขนส่ง เพราะการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ จะทำให้ระยะทางในการขนส่งน้ำมันไกลขึ้น โรงงานที่กระจายไปยังจังหวัดอื่นทำให้เราต้องเพิ่มรถขนส่งในส่วนนี้จะทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้นด้วย" นายมนูญ กล่าว

 

อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ปลื้มแนวคิดทันสมัย

นายสุรศักดิ์ นานานุกูล ที่ปรึกษา บริษัท ซับไมครอน จำกัด กล่าวว่า นโยบายใหม่ของบีโอไอ เป็นความคิดทันสมัยตรงกับสภาพอุตสาหกรรมในการแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่การเกาะกลุ่มระหว่างบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต เป็นคลัสเตอร์นั้น ทำให้ลดช่วงเวลาจากวัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูปทำให้ส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น นายราชิสร์ บุณยะอนันต์ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านระบบลอจิสติกส์ และการขนส่งสินค้า รวมถึงการสรรหาบุคลากรระดับปฏิบัติการและวิศวกรเพื่อเข้ามาทำงานได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับถึงผลกระทบบางส่วนที่เมื่อมีบริษัทมากระจุกรวมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็อาจจะกระทบต่อการพัฒนาชนบทได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.