เอทีเอสไอจี้รัฐหนุนซอฟต์แวร์
เน้นเป็นรูปธรรม และรวดเร็ว
แต่ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องยืนด้วยตัวเอง
เอทีเอสไอ ระบุสภาพเศรษฐกิจ การสนับสนุนอุตสาหกรรม อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วจากรัฐ
นโยบายอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ และโครงการหลักของรัฐที่จะสร้างโอกาสงานซอฟต์แวร์แก่บริษัทไทย
แนะผู้ประกอบการยืนด้วยตัวเองก่อน ซึ่งความสำเร็จอยู่ที่การหาตลาดเฉพาะตรงกับความชำนาญหลักธุรกิจ
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ กรรมการ
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า ปี 2546 ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศมีโอกาสโต หากต้องอาศัยปัจจัยบวกจากสภาพเศรษฐกิจและการสนับสนุนอุตสาหกรรมจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วกว่าปีที่ผ่านมา
รวมถึงนโยบายด้านอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ และโครงการหลักของรัฐที่จะเพิ่มโอกาสสร้างงานให้กับบริษัทไทย
ยกตัวอย่าง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
จะสร้างธุรกิจซอฟต์แวร์โรงพยาบาล โครงการธนาคารคนยาก ที่ให้กู้ยืมเงิน
และกองทุนหมู่บ้าน จะใช้ซอฟต์แวร์บันทึกการกู้ยืมคำนวณดอกเบี้ย
จัดเก็บประวัติลูกค้า "อย่างไรก็ตาม
ที่ผ่านมาภาครัฐเองแม้มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ แต่มีหลายโครงการไม่ได้รับการปฏิบัติ
หรือชะลอหลายๆ โครงการ ทำให้สมาชิกของสมาคมมองว่าเอกชนต้องพึ่งตนเองไปก่อน โดยรวมกลุ่มตามความถนัดและออกไปทำตลาดต่างประเทศร่วมกัน
หากในปี 2546 ภาครัฐดำเนินการสนับสนุนซอฟต์แวร์เป็นรูปธรรมจะสามารถทำไปในแนวขนานกับเอกชน
ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้เร็วยิ่งขึ้น" นายอนุกูล
กล่าว
ระบุตลาดเฉพาะด้านโต
"ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมีนโยบายแห่งชาติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ
ในประเทศ" นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ นายกสมาคมเดียวกัน
กล่าว นายอาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2546 นี้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยยังมีโอกาสในตลาดระบบบริหารทรัพยากรองค์กร
(อีอาร์พี) จากอุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็กและกลาง
ที่ต้องการจัดซื้อในปี 2546 จากความกดดันของคู่ค้า เช่น อียู
ซึ่งภาครัฐเองอาจเข้ามาผลักดันการใช้ไอทีในเอสเอ็มอีมากขึ้น และสร้างโครงการที่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีลงทุนส่วนนี้
รวมถึงการสร้างแรงจูงใจด้านภาษี และการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมที่จะแจกซอฟต์แวร์ให้ใช้งานหรือเสียค่าใช้จ่ายต่ำสุดให้กับเอสเอ็มอี
โดยเป็นการพัฒนาด้วยฝีมือคนไทย ด้านบริการเอาท์ซอร์สซิ่ง
ยังคงมีโอกาสจากต่างประเทศด้านคอนเท้นท์ ดีเวลลอปเม้นท์ เช่น แอนิเมชั่น
และเวบคอนเท้นท์อื่น บางบริษัทในสมาชิกของเอทีเอสไอเองก็พยายามขยายฐานลูกค้าไปในต่างประเทศ
เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง กระนั้นฐานดังกล่าวก็ยังเล็กและต้องการทรัพยากรด้านไอทีอีกมากที่ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน
ส่วนของภาครัฐ จะมีการลงทุนมากขึ้นจากปีที่แล้ว
ในโครงการอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ เช่น อี-ไฟแนนซ์, อี-เอดูเคชั่น และของกระทรวงต่างๆ ที่จะลงทุนระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
ซึ่งการมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
และคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี)
ชุดใหม่ ก็ผลักดันเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี ทั้งสมาคมเอง
ก็ตั้งกลุ่มคอนซอร์เตียม อี-เลิร์นนิง/มัลติมีเดีย
ร่วมสนองตอบความต้องการของรัฐด้วย
เขา กล่าวว่า
ปัจจุบันสมาชิกในสมาคมเองมีหลายบริษัทที่ทำตลาดไปได้ดี ทั้งในและต่างประเทศ
โดยมากจะระบบงานที่ใช้ในงานเฉพาะด้านและมีคู่แข่งน้อย เช่น ซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน
ซอฟต์แวร์ช่วยการออกแบบอัญมณี ระบบบำรุงรักษาเครื่องจักร ระบบบัญชีเฉพาะทาง และบัญชีงบประมาณภาครัฐใหม่ก็สามารถทำได้
โตเฉลี่ยปีละ 20%
ทั้งนี้ประมาณการตัวเลขมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี
2545 อยู่ที่ 30 พันล้านบาท เทียบกับปี 2544 อยู่ที่ 23 พันล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20%
โดยการส่งออกซอฟต์แวร์ 1.5 พันล้านบาท
ส่วนมากมาจากบริการเอาท์ซอร์ส นอกจากนี้ ในตลาดรวมปัจจุบัน
สัดส่วนตลาดหลักมาจากบริษัทข้ามชาติประมาณ 70% ที่เหลือเป็นซอฟต์แวร์ไทย
อีกทั้งจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์ในไทยอยู่ที่ 600 แห่งและ 95%
เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง หรือเอสเอ็มอี ส่วนบุคลากรด้านวิศวกรซอฟต์แวร์มีประมาณ
20,000 คน และมีนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยเฉลี่ยปีละ 3,000 คน ด้านผู้ใช้งานนั้นองค์กรต่างๆ ยังมีปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กรต่ำ 36% ต่อหนึ่งบาทที่ใช้ด้านไอที
ร่วมกองทุนนวัตกรรมหนุน 2 โครงการ
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า
สมาคมร่วมกับกองทุนพัฒนานวัตกรรม (ไอดีเอฟ) จะให้การสนับสนุนทางการเงินกับอุตสาหกรรมใน
2 โครงการหลัก ประกอบด้วย K-BEAN Project ที่มีแนวคิดการสร้างกรอบการพัฒนาการเรียนรู้ในระบบอี-เลิร์นนิง โดยใช้การเครื่องมือพัฒนาด้วยภาษาจาวา
เพื่อทำให้เกิดระบบการเรียนรู้ร่วมกัน (Co-operative Learning) ตัวอย่างเช่น ในการเรียนการสอนของโรงเรียนที่มีการพัฒนาเนื้อหาวิชาในระบบอี-เลิร์นนิง ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การพัฒนาเนื้อหาจะแตกต่างกันไป
แต่ด้วยเทคโนโลยีของจาวาทำให้แบ่งปันการใช้เนื้อหาบางส่วนร่วมกัน ในรูปแบบ
Component Base และสามารถนำส่วนที่พัฒนาแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้
"เปรียบเหมือนการเล่นจิ๊กซอว์บนเครือข่าย
การแลกเปลี่ยนคอมโพเน้นท์ที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน ไม่ว่าจะครูกับครู
นักเรียนกับครู" นายอนุกูล กล่าว
ทั้งนี้จะมีการพัฒนาต้นแบบ หรือ Prototype ที่ทดสอบว่าแนวคิดนี้ทำได้มากน้อยเพียงใดให้ภาครัฐได้พิจารณา
ซึ่งหากทำได้ จะสามารถนำไปใช้ในสถาบันของภาครัฐก่อน เขา กล่าวว่า อีกทั้งมีโครงการ
3-D Object e-Learning CAI ที่เอทีเอสไอได้ทำเรื่องของบประมาณไปกองทุนพัฒนานวัตกรรม
แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด จึงไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ ในโครงการนี้ จะมีกลุ่ม
E-learning Multimedia And CAI หรือ EMAC ภายใต้เอสทีเอสไอ ซึ่งเกิดการรวมกลุ่มบริษัทที่ชำนาญด้านมัลติมีเดียอีเลิร์นนิงจำนวน
15 บริษัท โดยมี 5
บริษัทเข้าร่วมในโครงการก่อน แนวคิดของโครงการ จะเป็นการพัฒนาร่วมกันของบริษัท พัฒนาออปเจคที่โดยมากบริษัทด้านมัลติมีเดียอีเลิร์นนิงต้องใช้
และจัดเก็บออปเจคไว้ ในแหล่งเดียวเป็นไลบารี ทำให้ลดการพัฒนาที่ซ้ำซ้อน
ลดต้นทุนการพัฒนา เกิดความร่วมมือ Co-Competition ตัวอย่าง
การพัฒนาเนื้อหาด้านอี-เลิร์นนิง
โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา สิ่งที่บริษัทจะต้องใช้พัฒนาออปเจคทั้งพระ วัด
โบสถ์ หากมีอีกบริษัทหนึ่งพัฒนาเกี่ยวกับวัดเช่นกันแต่เนื้อหาต่างออกไปก็ต้องพัฒนาออปเจคที่ต้องใช้ใกล้เคียงกัน
หากมีการพัฒนาออปเจคร่วมที่ใช้ส่วนกลาง ทำให้การพัฒนาของแต่ละบริษัทไปเป็นรวดเร็วขึ้นและต้นทุนต่ำลง
3 ยุทธศาสตร์หนุนซอฟต์แวร์
นายอาภรณ์ กล่าวว่า มี 3
ยุทธศาสตร์ที่จะเป็นเส้นทางหนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์แรก
การให้บริการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) โดยเฉพาะเอาท์ซอร์สซิ่ง
ยุทธศาสตร์ที่สอง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตามความต้องการให้กับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติ
เช่น ท่องเที่ยว แฟชั่น อาหาร อัญมณี เอ็ดดูเทนเม้นท์ และยุทธศาสตร์สุดท้าย การสร้างความเป็นเลิศเฉพาะด้าน
ในงานมัลติมีเดีย การรับออกแบบฐานข้อมูลและโมบาย คอมพิวติ้ง ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้มาก เพราะจะทำให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเอง
โดยอาจจะเริ่มจากเล็กๆ ก่อน
โครงการเร่งด่วนที่ได้นำเสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะรับไปดำเนินการ
ประกอบด้วย วีซ่าสำหรับโนว์เลจเวิร์คเกอร์ต่างชาติ ผ่านบีโอไอ วีซ่า เซ็นเตอร์, การสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านไอที,
การสร้างมาตรฐานซอฟต์แวร์ไทย (Thai Quality Software
Standard :TQS), จัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software
Industry Promotion Agency :SIPA) และสร้างโครงการนำร่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยซอฟต์แวร์คอนซอร์เตียมและพันธมิตรอินเดีย
เช่น บริษัทอินโฟซิส นอกจากนั้นแล้วในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้
น่าจะต้องสร้างอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอทีด้วย เช่น คอลล์เซ็นเตอร์
การตัดต่อภาพ (image editing) และบริการออกแบบ เป็นต้น
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2546
|