รัฐทุ่ม 5 พันล้านอัดฉีดอุตฯซอฟต์แวร์ ATSI เสนอแผนพิเศษให้ SMEsใช้ฟรี 1 ปี

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาอี-อินดัสเตรียลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จาการที่คณะที่ปรึกษาได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการหารือถึงแผนการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีใช้ไอทีมากขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าจะต้องเป็นโปรแกรมร่วมกับภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไอทีไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี เช่น การให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีสามารถหักค่าเสื่อมเครื่องไม้เครื่องมือด้านไอทีได้ใน 1-2 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลของเอสเอ็มอีได้

การสนับสนุนด้วยวิธีการจะต้องมีการจำกัดเป็นช่วงเวลาภายใน 1-2 ปีเท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นดีมานด์ความต้องการลงทุนด้านไอทีของเอสเอ็มอี นอกจากนี้การที่จะสนับสนุนให้เอส เอ็มอีมีการนำไอซีทีไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับ ปรุงกระบวนการผลิตได้จะต้องมีซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่ตอบสนองความต้องการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ ในช่วงเริ่มต้นจึงได้เสนอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ฟรี อาจจะเป็น 6 เดือน 1 ปีเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ในการนำไอทีไปใช้งาน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการคงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านการฝึกอบรมและการบริการเล็กน้อย "เชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้เราวินทั้ง 2 ฝ่ายคือ ทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย และผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนหลักๆ ในเบื้องต้นคือ 1.กระบวนการพัฒนาและสร้างคนที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และ 2.ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ไอซีที โดยให้โอกาสกับบริษัทคนไทยได้รับงานของภาครัฐมากขึ้น ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลปิดกั้นบริษัทต่างชาติเพียงแต่ต้องการขอโอกาสบางส่วนเท่านั้น "เรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีนั้น ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเกาไม่ถูกที่คัน เพราะบริษัทเอกชนประสบปัญหาว่า เมื่อรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ เมื่อพัฒนาขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้วส่วนใหญ่ก็จะหนีไปอยู่ที่อื่น ทำให้แต่ละบริษัทไม่สนใจที่จะพัฒนาบุคลากรขึ้นมา แต่จะเน้นการจ้างงานคนที่มีประสบการณ์ ทำให้แต่ละบริษัทก็แย่งคนในกลุ่มเดิมไม่ได้มีการสร้างคนใหม่ขึ้นมา ทำให้เกิดภาพปัญหาบุคลากรด้านไอทีขาดแคลน ขณะที่เด็กจบใหม่ก็ไม่มีงานทำ" นายอาภรณ์กล่าว

แนวทางในการฝึกอบรมที่เสนอจึงเป็นการทำแบบ on the job training โดยให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะรับบุคลากรเข้ามาทำงานและอบรมในระยะเวลา 9 เดือน-1 ปี โดยขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนด้านเงินทุน การฝึกอบรมบางส่วน และให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเทรนนิ่งรับภาระบางส่วน โดยที่เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วตามเงื่อนไขบริษัทซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะต้องรับเข้าเป็นพนักงานของบริษัทต่อถือว่าเป็นการรับประกันว่ามีงานทำแน่นอน และบุคลากรที่ได้ก็ตรงกับความต้องการ

นายอาภรณ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเซอร์วิสของไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 28,000 ล้านบาท เรียกว่าแทบจะไม่มีการเติบโตด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ในขณะที่ตลาดส่งออกซอฟต์แวร์และเซอร์วิสของไทยมีไม่ถึง 5% ซึ่งก็คาดหวังว่าในปีนี้จะขยับขึ้นเป็น 10% ซึ่งเชื่อว่าถ้าไม่มีปัญหาสงครามยืดเยื้อก็น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะปีนี้รัฐบาลได้สนับสนุนและมี นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์หลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 30%

นอกจากนี้ อุตฯซอฟต์แวร์ 28,000 ล้านบาทนั้นเป็นซอฟต์แวร์จากต่างประเทศประมาณ 70% เป็นซอฟต์แวร์และเซอร์วิสจากคนไทยประมาณ 30%เท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะคาดหวังถึงการขยายตลาดต่างประเทศ ขั้นแรกคงคาดหวังถึงโอกาสในการทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการรับงานเอาต์ซอร์ซจากภาครัฐ เรียกว่าลดสัดส่วนการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศให้ต่ำกว่า 70%

ในส่วนนี้ภาคเอกชนจะต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองก่อนแล้วจึงให้ภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันสนับสนุน เพราะถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนขณะที่ภาคเอกชนไม่มีความพร้อมก็ไม่มีประโยชน์ "สิ่งสำคัญที่ต้องทำในขณะนี้คือ ยกระดับมาตรฐาน ทำอย่างไรเพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยค่อยๆ ไต่ขึ้นไปเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย คือทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยถึง 90,000 ล้านบาทภายในปี 2549 ซึ่งเหลือเวลาอีก 4 ปีเท่านั้น แต่ก็เชื่อว่าถ้านโยบายต่างๆ สามารถแปรเป็นแผนปฏิบัติได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ก็จะทำได้ แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะช้าหน่อยแต่ก็เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างเริ่มขับเคลื่อนก็จะทำให้มีการขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว" นายอาภรณ์กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้นโยบายต่างๆ สัมฤทธิผลนั้นภาครัฐต้องคอยทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมแต่ไม่ควรที่จะลงมาทำเอง เพราะต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ลงมาทำหลายๆ อย่างนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เช่นที่ผ่านมาเนคเทคเปิดให้บริการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานเอง ซึ่งเรื่องพวกนี้ควรปล่อยให้เอกชนลงทุนแข่งขันกันเอง โดยที่ภาครัฐกำหนดกรอบนโยบายคอยตรวจสอบมาตรฐานบริการต่างๆ มากกว่า หรือทำงานด้านวิจัยและพัฒนา แต่ไม่ใช่เอาเงินงบประมาณมาแข่งกับเอกชน นายอาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการสนับสนุนตามนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี, การพัฒนาบุคลากร และการปรับปรุงกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จากที่ประชุมหารือกับนายกรัฐมนตรีได้คาดการณ์ว่า ในช่วง 1 ปี-1 ปีครึ่ง จะใช้งบประมาณ 4-5 พันล้านบาท

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.