เอทีเอสไอ สานต่อนโยบายพัฒนา อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
เตรียมส่งแผนปฏิบัติการด้านซอฟต์แวร์
แก่นายกรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคมนี้ ชี้ "มัลติมีเดีย" จุดสร้างรายได้ซอฟต์แวร์ไทย ทั้งจะว่าจ้างบุคคลภายนอก มาดำเนินการตั้งศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม
(อินทิลิเจนท์ อินดัสตรี เซ็นเตอร์)
นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์
นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า
เอทีเอสไอ กำหนดจะจัดส่งแผนปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยแผนจะลงลึกในรายละเอียดของขั้นตอนการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในแต่ละประเภทของซอฟต์แวร์
เช่น ระบบบริหารสำนักงานส่วนหลัง ระบบบริหารสำนักงานส่วนหน้า ระบบช่วยปฏิบัติงาน พร้อมกลุ่มตลาดเป้าหมายที่เห็นว่าควรส่งเสริม
ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย เช่น อุตสาหกรรมการผลิต, ธุรกิจสิ่งทอ, ธุรกิจอัญมณี, ธุรกิจซื้อมาขายไป,
ท่องเที่ยว, บันเทิง
โดยมีระยะเวลาที่สามารถวัดผลได้ ทั้งนี้ เอทีเอสไอต้องการให้ประเทศไทย ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากกว่าที่ประเทศอินเดียได้รับอยู่
2 มิติ คือ สร้างงานให้คน และการสร้างรายได้เข้าประเทศ
ด้วยการสร้างอีกมิติหนึ่งคือ การพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะด้านที่เก่ง
และมีความเป็นเลิศในด้านที่ชำนาญ โดยเน้นไปที่ระบบหลายสื่อ (มัลติมีเดีย)
และฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ซึ่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยปัจจุบันราว 95%
จะมุ่งมาด้านนี้ เพราะการเป็นเลิศด้านมัลติมีเดีย จะสร้างสื่อใหม่ๆ ได้อีกมาก
หรือหลายมิติ
อย่างไรก็ตาม
การจะพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมนั้น "มาตรฐาน" เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสมาคมกำหนดมาตรฐานคุณภาพซอฟต์แวร์ไทย (Thai
Quality Software : TQS) ขึ้นเป็นบันไดเบื้องต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
เพราะการทำซอฟต์แวร์ต้องมีกระบวนการดูแลซอร์สโค้ดที่ดี มีพัฒนาเป็นขั้นๆ ไป โดยหลักการของทีคิวเอสเน้นกระบวนการที่จำเป็น
และเป็นมาตรฐานอย่างง่าย เพื่อให้บริษัทซอฟต์แวร์
สามารถปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์ เอ็นจิเนียริ่ง
โพรเซส) ให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือ
และได้รับการยอมรับในตลาด ทั้งนี้เพราะการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกจำหน่าย
แตกต่างจากการพัฒนาใช้เอง ยิ่งกว่านั้นหากต้องการพัฒนาเพื่อส่งออกจะต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย
ซึ่งจะต้องไปถึงมาตรฐานซีเอ็มเอ็ม (Capability Maturity Model) หรือมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งการทำงานของสมาคมจะเริ่มทำจากสิ่งที่พอทำได้ไปก่อน
ระยะแรกค่อยๆ ไป เพื่อจะเติบโตต่อไปในอนาคต
ส่วนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม (อินทิลิเจนท์
อินดัสตรี เซ็นเตอร์) มีความเป็นไปได้ที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกมาก่อตั้งให้
โดยใช้งบประมาณเบื้องต้นของเอทีเอสไอเอง และอาจมีภาครัฐให้เงินช่วยเหลือช่วง 2-3
ปีแรกบางส่วน ซึ่งศูนย์ดังกล่าวถือเป็นความจำเป็นต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรม
เพื่อทำหน้าที่หามูลค่าตลาด ประมาณความต้องการตลาด แบ่งมูลค่าตลาดตามประเภทและอุตสาหกรรมได้
แต่ไม่เคยมีศูนย์ลักษณะดังกล่าวเอื้อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเลย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม
2545
|