เอไอเอส ผนึกไมโครซอฟท์บุกโมบายออฟฟิศ
เอไอเอส จับมือไมโครซอฟท์
ร่วมพัฒนาโซลูชั่นขยายตลาดองค์กร พร้อมเล็งเพิ่มช่องทางส่งออกแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนบุก
6-8 ประเทศทั่วเอเชีย
นายกฤษณัน งามผาติพงศ์
รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์
ในการนำเสนอระบบงานสำหรับองค์กร "เอ็นเตอร์ไพรส์
โซลูชั่น" บนระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับลูกค้าที่จะเลือกใช้แพลทฟอร์มทั้งของไมโครซอฟท์
หรือของซิมเบียนได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีระบบงานที่พัฒนาให้กับลูกค้าองค์กรแล้ว
ได้แก่ ระบบเซล ฟอร์ซ แมนเนจเม้นท์, ระบบการให้บริการลูกค้า
และระบบการประชุมภาพ (วิดีโอ วอลล์) ซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการซิมเบียน
อย่างไรก็ตามจะขยายการพัฒนาให้รองรับระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ด้วย ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปีหน้าจะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ
ในตลาดที่สนับสนุนการทำงาน "โมบาย ออฟฟิศ" บนระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ เช่น วินโดว์ส ซีอี เวอร์ชั่นใหม่ บนแท็ปเล็ท
พีซี
"การผสานโซลูชั่นของทั้งสองบริษัทจะช่วยให้สร้างไวร์เลส
เซอร์วิส ที่เป็นไร้สาย (ไวร์ฟรี) ได้อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้ไมโครซอฟท์ภายในองค์กรอยู่แล้ว เมื่อใช้งานกับโมบาย ดีไวซ์
ก็จะไม่ต้องแปลงข้อมูล สามารถโอนถ่ายข้อมูลจากอุปกรณ์เข้าสู่องค์กรได้ทันที"
นายกฤษณัน กล่าว ปัจจุบัน บริษัทมีฐานลูกค้าองค์กร 75,000 ราย ในอุตสาหกรรมหลัก 8 กลุ่ม และมีรายได้เฉลี่ยต่อองค์กร
(ARPA) อยู่ที่กว่า 1,000-3,000
บาทต่อเดือน
ด้านนายศักดา อู่ดาราศักดิ์ นักวิเคราะห์อาวุโสวางแผนยุทธศาสตร์การตลาดผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี
บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า บริษัทมีแผนร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ขยายความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชียใต้
สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ ภายใต้ชื่อ "SMART" โดยรูปแบบความร่วมมือ จะเป็นนำแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่บนสมาร์ทโฟน ไปแลกเปลี่ยนกับโอเปอเรเตอร์ในประเทศอื่น
ทำให้มีจำนวนแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมากขึ้น และเมื่อมีการใช้จำนวนแอพพลิเคชั่นที่แพร่หลายมากขึ้นก็จะทำให้ราคาถูกลง
"เอไอเอสจะเป็นตัวกลางประสานงานกับโอเปอเรเตอร์อื่น
ๆ ในภูมิภาค และน่าจะสร้างโอกาสให้กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย
ขายแอพพลิเคชั่นไปต่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทเองมีพันธมิตรด้านเกมกับไซเบอร์แพลนเน็ต
และบริษัทข้อมูลไร้สายด้านบริการข้อมูลหุ้นในสมาร์ทโฟนด้วย" นายศักดา กล่าว สำหรับประเทศเป้าหมายนั้น ในช่วงแรกประกอบด้วย สิงคโปร์
โดยผ่านพันธมิตรคือ บริษัท สิงคโปร์ เทเลคอม (สิงเทล)
และออสเตรเลีย โดยผ่านออปตุส ซึ่งเป็นบริษัทที่สิงเทลร่วมถือหุ้นอยู่
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2546
|