Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageNational Electronics and Computer Technology

Procurement News - ข่าวประกวดราคาและจัดซื้อicon ข่าวประชาสัมพันธ์
icon ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
icon ข่าวไอซีที
icon กิจกรรมต่างๆ
Thailand ICT Contest Festival 2006

 

งาน "มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5" (Thailand ICT Contest Festival 2006)
วัน 10-12 กุมภาพันธ์ 2549
เวลา 9.00-19.00 น.
สถานที่ ณ ห้อง MCC Hall ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ กรุงเทพมหานคร
กิจกรรม

การประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรมด้าน ICT จากฝีมือและมันสมองของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ 4 กิจกรรม

  1. การแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 (The Seventh National Software Contest: NSC 2006) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชม 102 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ อาทิ โปรแกรมเกม โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (CAI) โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน โปรแกรมด้าน Linux และ Web Services
  2. การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ (Young Scientist Competition in Computer Science and Engineering Project: YSC.CS & YSC.EN 2006) สรรหาตัวแทนประเทศไทยชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  3. การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ เพื่อชิงชัยในการประดิษฐ์ระบบบัตรคิวด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Embedded System และ RFID
  4. การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ระดับนักเรียนและประชาชนทั่วไป ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อสร้างสรรค์ Web Page โดยใช้โปรแกรมต่างๆ ในลินุกซ์ทะเล และการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุม และให้บริการเครือข่าย โดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
รายละเอียด

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้มุ่งเน้นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology - ICT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ครอบคลุมเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณ โทรคมนาคม และสารสนเทศ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technologies) ตลอดมาและยึดถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการวางแนวนโยบายของศูนย์ฯ ในทุกๆด้าน รวมทั้งกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ปี พ.ศ.2549 นี้ ศูนย์ฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมการจัดงาน "มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5" เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้นำเอาความรู้ความสามารถมาร่วมประกวดแข่งขัน ทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง ผลการประกวดถือเป็นแนวทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างชัดเจน

https://www.nectec.or.th/fic/, https://www.nectec.or.th/ict-contest/2006/

การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: จากซอฟต์แวร์ขนาดเล็กสู่การแข่งขันระดับชาติ
 

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้จัดทำโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ภายใต้ชื่อ "โครงการสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก" ในระยะแรกดำเนินโครงการโดยการให้ทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการซอฟต์แวร์ในระดับนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งก็ได้รับความสนใจมีผู้ส่งผลงานการพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นทุกปี

ต่อมาโครงการประกวดซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการโดยจัดให้มีเวทีการแข่งขันในระดับประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest - NSC)" ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์ฯ ได้สนับสนุนโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 3,143 โครงการ จากข้อเสนอโครงการทั้งสิ้นกว่า 5,020 โครงการ

ในปี พ.ศ. 2548 ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ดำเนินโครงการการแข่งขันระดับชาติเป็นปีที่ 8 โดยได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 10 ประเภท คือ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ ในระดับนักศึกษา โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน ในระดับนักเรียน และ หัวข้อพิเศษ Web Services Contest และนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 545 โครงการจากข้อเสนอโครงการกว่า 1,112 โครงการ ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาได้พัฒนาโครงการซอฟต์แวร์ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ได้รับทุนและผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

https://www.nectec.or.th/nsc/, https://www.nectec.or.th/services/download.php

การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์: ยกระดับเด็กไทยมุ่งสู่เวทีโลก
 

ในปี พ.ศ. 2541 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ร่วมมือกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการริเริ่มจัดประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Young Scientist Competition in Computer Science Project -YSC.CS) ขึ้น และเพิ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Project -YSC.EN) ในปีพ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนเด็กไทยในระดับมัธยมศึกษา (ระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 2-6 หรือเทียบเท่า) ให้มีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ในระดับประเทศ และคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา การดำเนินโครงการนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ฯ ได้สนับสนุนโครงงานไปแล้วทั้งสิ้น 343 โครงงาน จากข้อเสนอโครงงานทั้งสิ้นกว่า 652 โครงงาน ในปี พ.ศ. 2549 นี้ ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สนับสนุนเยาวชนที่พัฒนาโครงงานจำนวน 67 โครงงานจากข้อเสนอ 166 โครงงาน

https://www.nectec.or.th/ysc/

งาน Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF
 

เป็นงานแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ครอบคลุมการประกวดในสาขาต่างๆ ถึง 15 สาขา นับเป็นเวทีชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากทั่วโลกกว่า 1 ล้านคน และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ซึ่งเยาวชนไทยประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยไปปรากฏในเวทีระดับโลก

https://www.sciserv.org/isef/, https://intelisef2006.org/

การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์: จุดเริ่มต้นนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์
 

การวิจัยและพัฒนาทางด้านฮาร์ดแวร์ ผู้ทำการวิจัยและพัฒนาจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์และการทำงานของวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างดี การสร้างบุคคลากรในระดับนักเรียนให้มีความรู้ความชำนาญทางด้านฮาร์ดแวร์จึงจะต้องมีการฝึกฝนทักษะพื้นฐานทางด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2543 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติจึงได้เริ่มโครงการ NECTEC e-Camp ขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นค่ายฝึกอบรมให้ความรู้เบื้องต้นแก่นักเรียน และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ก็ได้จัดทำโครงการแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมจากค่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Camp) ได้มีโอกาสแข่งขันประลองฝีมือในการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์

ในปีพ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้ง 20 แห่งที่ร่วมโครงการ ได้จัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ในช่วงเดือนเมษายนและตุลาคม รวม 22 ครั้ง มีนักเรียนที่ผ่านการเข้าค่ายกว่า 1,000 คน นับแต่ได้เริ่มโครงการมาได้จัดอบรมไปแล้วรวม 72 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน และการแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 4 นี้ มีนักเรียนและพี่เลี้ยงตัวแทนค่ายของแต่ละมหาวิทยาลัย รวม 100 คนเข้าร่วมการแข่งขัน โดยได้กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันประดิษฐ์ระบบบัตรคิวด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Embedded System และ RFID

https://www.nectec.or.th/yecc/

การแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์: คนไทยทำได้
 

ในปีพ.ศ. 2544 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติได้จัดให้มีการแข่งขันติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ NECTEC Linux Installation Competition: NLC เพื่อส่งเสริมความรู้ในการติดตั้งและการใช้โปรแกรมลินุกซ์ที่มีราคาประหยัดและเป็นเวทีทดสอบและพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนและประชาชนทางด้านโปรแกรม ลินุกซ์และการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งาน

สำหรับปี พ.ศ. 2549 นี้ ได้เปิดรับสมัครสำหรับผู้ที่สนใจทั้งระดับนักเรียนในระดับชั้นไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 4 และผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อแข่งขันในการแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพื่อสร้างสรรค์ Web Page โดยใช้โปรแกรมต่างๆ ในลินุกซ์ทะเล และการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและให้บริการเครือข่ายโดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้จัดสอบแข่งขันรอบคัดเลือกที่สนามสอบ 11 แห่งทั่วประเทศ มีผู้สนใจสมัครเข้าสอบกว่า 574 คน และคัดเลือกเหลือ 120 คน เพื่อชิงชนะเลิศต่อไป

https://ccp.nectec.or.th/activity/nlc6/

จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สนับสนุนโดย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดย มูลนิธิราชสุดา
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน
สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี จำกัด
บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
โดยความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตตาก
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

Back

ผู้รับผิดชอบ งานประชาสัมพันธ์ นิทรรศการ และผลิตสื่อ โทร. 02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology